Power of The Act: “สินค้านี้ผลิตโดยพลังงานไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน 100%” ตรวจวัดได้จริงหรือไม่ ?

การผลิตสินค้าหรือการให้บริการต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยการใช้พลังงานไฟฟ้าในการเดินเครื่องจักรหรือการใช้งานอุปกรณ์ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการปลดปล่อยคาร์บอนจากการใช้พลังงาน หากใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า แต่ขณะเดียวกันก็ได้กล่าวอ้างว่า “สินค้าของเราผลิตโดยอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน 100%” คำกล่าวอ้างข้างต้นจะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด จะมีวิธีในการตรวจวัดความถูกต้องแท้จริงอย่างไร?

ความท้าทายในการวัด หรือการพิสูจน์ มีเหตุสำคัญเกิดจากสภาพข้อเท็จจริงที่ว่า พลังงานไฟฟ้าในระบบโครงข่ายนั้นมีความปะปนไม่อาจแยกหน่วยได้ กล่าวคือ เราไม่อาจแยกหรือติดตามตรวจสอบอิเล็กตรอนของไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกับไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนได้ (โปรดดู “Understanding EAC Schemes and Roadmaps for Their Development” โดย The International REC Standard Foundation (September 2020) หน้า 6)

เมื่อไม่อาจแยก หรือติดตามตรวจสอบอิเล็กตรอนของไฟฟ้า (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าพลังงานไฟฟ้านั้นเป็นสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกัน (Homogeneous Product)) ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้แล้ว บุคคลที่ได้ “จ่ายเงิน” เพื่อซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนจะสามารถกล่าวว่าตนใช้พลังงานไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนได้อย่างไร ?

*การปะปนมิอาจแยกจากกันได้ของพลังงานไฟฟ้าในระบบโครงข่ายไฟฟ้า

ผู้ใช้ไฟฟ้าอาจเลือกที่จะ “จ่ายเงิน” เพื่อให้มีการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิต ณ แหล่งอื่น (Offsite Power Purchase Agreement) ผู้ผลิตไฟฟ้าอาจจะผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรหมุนเวียนจากสถานที่อื่น และจ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อให้มีการส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า หากระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้นถูกใช้เพื่อ “ขนส่ง” พลังงานไฟฟ้าที่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรหมุนเวียนเพียงรายเดียว ไม่มีพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตโดยอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลมาปะปน กรณีนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าย่อมสามารถกล่าวได้ว่า ตนใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนเป็นจำนวนกี่หน่วย และสามารถนำมาใช้คำนวณว่า ตนใช้พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ได้มีการปล่อยคาร์บอนโดยพิจารณาจากปริมาณหน่วยไฟฟ้าที่มีการส่งมอบจริง

อย่างไรก็ตาม หากไฟฟ้าที่ผลิตโดยอาศัยทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนนั้นถูกจ่ายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มีพลังงานไฟฟ้าที่ถูกผลิตโดยอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ด้วยแล้ว กรณีนี้ย่อมเกิดคำถามว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าจะสามารถกล่าวได้ว่าใช้ไฟฟ้าที่ผลิตโดยอาศัยทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนได้หรือไม่ ? เพราะเป็นการใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มีพลังงานไฟฟ้าที่ถูกผลิตจากทั้งเชื้อเพลิงฟอสซิลและทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนปะปนกันโดยมิอาจแยกจากกันได้

*ผู้ซื้อไฟฟ้าจ่ายเงินเพื่ออะไร ?

ผู้ซื้อไฟฟ้าซึ่งอาจไม่ได้รับการส่งมอบหน่วยไฟฟ้าที่ผู้ขายผลิตและจ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีหน้าที่ “ชำระเงิน” ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบเสมือน (Virtual Power Purchase Agreement) เพื่อให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น (ระบบโครงข่ายสามารถจะพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตโดยอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง) กล่าวได้ว่าระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะ “สะอาดขึ้น” จากการชำระเงินที่ผู้ซื้อชำระ

ดังนั้น การชำระเงินนี้ย่อมควรจะส่งผลให้ผู้ซื้อสามารถกล่าวได้ว่า ตนมีส่วนในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้เกิดการผลิตไฟฟ้าสะอาดได้เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้รับมอบอิเล็กตรอนของหน่วยไฟฟ้าที่ผู้ขายจ่ายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าโดยตรง การหักลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการใช้ไฟฟ้าขององค์กร (Scope II. Emission) โดยการ “ซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน” นั้นเป็นวิธีการที่ได้รับยอมรับในระดับสากล (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน GHG Protocol Scope 2 Guidance เผยแพร่โดย World Resources Institute หน้า 6)

ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ผู้ขายจึงมีทั้งหน้าที่ในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่าย และหน้าที่ในการยืนยันว่าพลังงานไฟฟ้าที่ตนผลิตและจ่ายเข้าระบบโครงข่ายนั้นเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตโดยอาศัยทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนจริง คำยืนยันนี้จะต้องถูกส่งมอบหรือโอนไปยังผู้ซื้อ เพื่อให้ผู้ซื้อไฟฟ้านำเอาคำยืนยันไปคำนวณการปล่อยคาร์บอน (แสดงได้ว่าตนสนับสนุนให้มีการผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน) โดยจะต้องไม่มีการอ้างการใช้ซ้ำหรือเกินไปกว่าปริมาณที่ตนให้การสนับสนุนทางการเงิน

ในทางปฏิบัติ Individual Power Purchase Agreement for Corporates and Utilities (June 2019) ซึ่งเป็นต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตโดยอาศัยทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนของ European Federation of Energy Traders (EFET) มีส่วนที่กำหนดถึง Electricity โดยระบุถึงปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่จะมีการจ่ายตามสัญญา (Contract Quantity of electricity) ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกตามช่วงเวลาได้ นอกจากนี้ ผู้ขายยังมีหน้าที่ต้องโอนและส่งมอบ Certificates ซึ่งเป็นการยืนยันหรือเป็นหลักฐานที่แสดงว่าพลังไฟฟ้านั้นผลิตขึ้นจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนจริง โดยที่ใบรับรองดังกล่าวนั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบหรือขึ้นทะเบียนโดยองค์กรที่ได้รับการรับรองหรือเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจ

*มั่นใจได้อย่างไรว่าใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนออกโดยมีการผลิตไฟฟ้าสะอาดอย่างแท้จริง ?

สัญญาซื้อขายไฟฟ้าสามารถกำหนดถึงจำนวนของใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ผู้ขายไฟฟ้ามีหน้าที่ต้องส่งมอบหรือโอนให้กับผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อมีหน้าที่ชำระราคาในส่วนของใบรับรองตามที่ได้ตกลงกับผู้ขายไฟฟ้า (ซึ่งอาจตกลงกันเป็นราคาที่แน่นอนหรืออาจยืดหยุ่นตามราคาตลาดก็ได้)

ในกรณีนี้ ผู้ขายไฟฟ้าจะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่จะเป็นการออกโดยองค์กรหรือหน่วยงานที่มีภารกิจ และความเป็นกลางในการออกใบรับรอง โดยในประเทศไทยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากมูลนิธิ I-REC จะทำการออกใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ “REC”) ของผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย

ผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องนำเอาสถานที่ผลิตไฟฟ้าไปขึ้นทะเบียนให้มีสถานะเป็น “Production Facility” ต่อมา ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะต้องแสดงต่อ กฟผ. ว่าตนมีการผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลาใด โดยระบุทั้งเวลาเริ่มการผลิตและเวลาสิ้นสุดการผลิต ปริมาณการผลิตโดยรวมของช่วงเวลาดังกล่าว (Total Production During Period) โดยมีหน่วยเป็นเมกะวัตต์ (ข้อ 1.3 ของ Evident. I-REC Code for Electricity (October 2022) ในส่วนของ SF-04: Issue Request) ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ประสงค์จะขอรับใบรับรองต้องแสดง “หลักฐานเกี่ยวกับรายละเอียด” ของปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ถูกผลิตจริงและได้ถูกจ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า (ข้อ 1.5 ของ SF-04: Issue Request)

ในกรณีที่ Production Facility เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า (เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ.) ปริมาณพลังงานไฟฟ้าจะแสดงผ่านปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ถูกบันทึกโดยมิเตอร์ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น Metering Data” มูลนิธิ I-REC ระบุว่า “หลักฐาน” ชนิดนี้ มีหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือและจะต้องถูกนำมาพิจารณาก่อนหลักฐานแสดงปริมาณการผลิตอื่น ๆ (ข้อ 8.5.1 ของ I-REC Code for Electricity (October 2022))

จากกระบวนการข้างต้น กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ออกใบรับรองจะไม่อาจออกใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนเกินไปจากปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่มีการจ่ายเข้าสู่ระบบ “จริง” เพราะเป็นการออกใบรับรองจากสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วมิได้เป็นเพียงปริมาณพลังงานไฟฟ้าโดยประมาณเท่านั้น ใบรับรองที่ออกนั้นจะถูกนำไปเก็บไว้ในบัญชีเพื่อการค้า (Trade Account) ซึ่งเป็นบัญชีสามารถถูกใช้เพื่อโอนและรับโอนใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (ข้อ 9.11 ของ I-REC Code for Electricity (October 2022)) โดยผู้ผลิตไฟฟ้ายังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในใบรับรองที่ กฟผ. ออกให้

*การโอนใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้กับผู้ซื้อ

สัญญาซื้อขายไฟฟ้าสามารถกำหนดให้ผู้ขายไฟฟ้ามีหน้าที่ต้องโอนใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและสามารถเรียกเก็บราคาใบรับรองแยกจากค่าพลังงานไฟฟ้าได้ เมื่อใบรับรองกลายเป็นทรัพย์สินอันเป็นวัตถุของการซื้อขายแล้ว ผู้ขายจะต้องส่งมอบใบรับรองให้กับผู้ซื้อ ตาม Individual Power Purchase Agreement for Corporates and Utilities (June 2019) ของ EFET นั้น การ “ส่งมอบหรือโอน” Certificates นั้นสามารถดำเนินการโดยการโอนทั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transfer of Certificates) และการโอนโดยการใช้คำยืนยันการยกเลิก Certificates (Cancellation by Statement)

ในส่วนของการโอนแบบอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะเป็นการ “โอน” ใบรับรองซึ่งเป็นของผู้ขายไปยังบัญชีเพื่อการค้าของผู้ซื้อ (ซึ่งเทียบได้กับการโอนเงินผ่านบัญชีเงินฝากแบบดิจิทัลที่ผู้โอนและผู้รับโอนเงินได้ต้องมีการดำเนินการทางกายภาพ) เมื่อกระบวนการโอนเสร็จสิ้นแล้ว กรรมสิทธิ์ในใบรับรองจะถูกโอนมายังผู้ซื้อ การโอนและการรับโอนนี้เป็นการแสดงว่าผู้ขายได้ปฏิบัติการชำระหนี้ในส่วนการส่งมอบทรัพย์สินเสร็จสิ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าผู้ซื้อ (ผู้รับโอน) จะต้อง “ใช้” ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนโดยทันที (ซึ่งเทียบเคียงได้กับการที่ผู้รับโอนเงินมาแล้วยังไม่ได้ใช้เงินในบัญชีของตน)

*ป้องกันการใช้ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนซ้ำอย่างไร ?

“เงิน” ที่ถูกใช้จากบัญชีของผู้ฝากเงินย่อม “ไม่สามารถถูกใช้ซ้ำ” ได้อีก ในทำนองเดียวกัน ผู้ซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ได้ใช้ใบรับรองเพื่อ “อ้างสิทธิ” ว่าตนลดการปล่อยคาร์บอนผ่านการซื้อใบรับรอง การกล่าวอ้างสิทธินั้นจะต้องมีการโอนย้ายใบรับรองจากบัญชีเพื่อการค้าไปยังบัญชีการไถ่ถอน (Redemption Account) เมื่อการไถ่ถอนแล้วใบรับรองฉบับดังกล่าวจะไม่สามารถถูกใช้หรืออ้างอิงได้อีก เมื่อมิให้มีการอ้างสิทธิ “ซ้ำ” อีก กล่าวคือเมื่อมีการโอนใบรับรองแล้ว ผู้ซื้อไฟฟ้าสามารถนำเอาใบรับรองที่รับโอนไปหักลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการใช้พลังงาน (Scope II. Emission) ได้ โดยไม่อาจจะมีการโอนหรือใช้ใบรับรองนี้ซ้ำได้อีก

ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ขายได้จ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายจำนวน 100 หน่วย โดยการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปริมาณดังกล่าวส่งผลให้ได้ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรจำนวน 10 ใบ ผู้ขายจะสามารถเรียกเก็บเงินค่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้มีการจ่ายเข้าสู่ระบบจำนวน 100 หน่วยตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และเรียกเก็บราคาของใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ทั้ง 10 ใบให้กับผู้ซื้อไฟฟ้า ผู้ซื้อซึ่งได้รับทั้งพลังงานไฟฟ้า (ซึ่งมีการส่งมอบแบบเสมือน) และการรับโอนใบรับรองการผลิตพลังงานย่อมมีหน้าที่ต้องชำระค่าตอบแทนให้กับผู้ขาย

โดยสรุป จะเห็นได้ว่ากระบวนการออก โอน และไถ่ถอนใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนตามมาตรฐาน I-REC Standard โดยมี กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการนั้นมีบทบาทสำคัญที่ทำให้คำกล่าวว่า “สินค้าของเราผลิตโดยอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน 100%” นั้นสามารถตรวจวัดได้จริง เริ่มต้นตั้งแต่การที่ใบรับรองจะต้องสะท้อนปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ถูกส่งเข้าสู่ระบบโครงข่ายอย่างแท้จริง มีการตรวจวัดโดยองค์กรที่มีความเป็นกลางและมีศักยภาพ การโอนใบรับรอง (ในกรณีที่เป็นใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์) นั้นดำเนินการโดยผ่านระบบบัญชี ซึ่งสามารถรองรับการโอนกรรมสิทธิ์ของใบรับรองจากผู้ขายมายังผู้ซื้อ และป้องกันมิให้ผู้ซื้อใบรับรองใช้ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อหักลดการปล่อยคาร์บอนในส่วนของปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการใช้พลังงาน (Scope II. Emission) ได้

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top