TRC ดีดขึ้นแรง 6.52%% หรือเพิ่มขึ้น 0.49 บาท มาอยู่ที่ 0.49 บาท มูลค่าซื้อขาย 23.74 ล้านบาท เมื่อเวลา 11.00 น. โดยเปิดตลาดที่ 0.46 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 0.51 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 0.46 บาท
ขณะที่ ITD บวก 1.53% มาที่ 1.33 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 0.02 บาท มูลค่าซื้อขาย 4.58 ล้านบาท
บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากข่าวนายกรัฐมนตรีสั่งการเรื่องการทำเหมืองแร่โปแตช โดยขอให้ผู้ได้รับสัมปทานไปเร่งรัดการเดินหน้าโครงการ หากทำไม่ได้จะให้จัดประมูลใหม่ มองเป็นจิตวิทยาบวกต่อหุ้น บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD), บมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) โดยเชิงกลยุทธ์เน้น “เก็งกำไร”
ขณะที่มีรายงานข่าวว่า TRC นัดประชุมผู้ถือหุ้นปลายเดือน พ.ย.เพื่ออนุมัติเพิ่มทุนใหม่ล็อตแรก 479 ล้านบาท ส่วนล็อตสองต้นปีหน้า ก่อนลุยก่อสร้างโครงการโปแตช ชัยภูมิ 3 ปี
ทั้งนี้ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT เป็นบริษัทร่วมของ บมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) ถือหุ้นโดยบริษัทย่อย 25.13% ประกอบด้วย TRC Investment Limited ที่สมอริเชียส 22.46% และ TRC International Limited ที่ฮ่องกง 2.67% ขณะที่กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 20% และบริษัท ไทย-เยอรมัน ไมนิ่ง จำกัด ถือหุ้น 16.13%
โครงการเหมืองแร่โปแตชของ APOT ตั้งอยู่ใน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วนหลัก คือ
1. พื้นที่การทำเหมืองใต้ดิน 9,707-0-83 ไร่ ใช้ประโยชน์เพื่อทำเหมืองใต้ดินลึกจากระดับผิวดินไม่เกิน 100 เมตรประมาณ 155-0-50 ไร่
2. พื้นที่การทำเหมืองบนดิน ได้แก่ โรงแต่งแร่ โรงเก็บแร่ดิบ โรงเก็บผลิตภัณฑ์ อุโมงค์เข้าสู่ชั้นแร่ และอาคารสำนักงาน เป็นต้น คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 883-3-18 ไร่
3. พื้นที่นอกเขตประทานบัตรประมาณ 5,713-0-75 ไร่เพื่อใช้เป็นพื้นที่บ่อเก็บหางแร่และแนวท่อลำเลียงหางแร่
โครงการนี้จัดทำประชาพิจารณ์จนได้รับอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 57 สถานะโครงการพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ แต่ยังตัดขัดปัญหาการหาผู้ร่วมลงทุนใหม่ และขอสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ (Project Financing)
ส่วน บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับสิทธิพิเศษสำรวจแร่โพแทชในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีจำนวน 12 แปลง เนื้อที่รวม 1.2 แสนไร่ ซึ่งจากการสำรวจพบแหล่งแร่โพแทชที่มีศักยภาพและมีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ 2 แหล่ง ต่อมาบริษัทยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่ 4 แปลง เนื้อที่รวม 2.64 หมื่นไร่ ในปี 65-90 ระยะเวลา 25 ปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ย. 66)
Tags: TRC, ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น, นายกรัฐมนตรี, หุ้นไทย, เหมืองแร่