ครม. เผยสหรัฐฯ พอใจผลการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทย ตามกฎหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (กฎหมายการค้าสหรัฐฯ) มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี พ.ศ. 2566 พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการส่งเสริมการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพต่อไป

นายคารม กล่าวว่า พัฒนาการและความคืบหน้าการดำเนินการของไทยที่สหรัฐฯ แสดงความพอใจต่อนโยบายและผลการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยที่สำคัญ มีดังนี้

1. การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถแจ้งไปยังผู้ให้บริการให้นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออก หรือระงับการเข้าถึงตามกระบวนการแจ้งเตือน นำออก และการขยายอายุความคุ้มครองภาพถ่าย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นำไปสู่การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: CT) (สนธิสัญญา WCT) และเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี (Technological Protection Measures: TPM) เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล

2. การจัดทำระบบฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร (Thai Customs IPR Recordation System: TCIRS) เพื่อให้เจ้าของสิทธิสามารถยื่นคำขอแจ้งข้อมูลเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าว ในการยืนยันสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์

3. การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กลไกการทำงานของคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน (ในขณะนั้น) มีการบูรณาการ ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ

4. การจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อส่งเสริมความร่วมมือ ในการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต และการร่วมมือกับสมาคมด้านการโฆษณา เพื่อไม่ให้การสนับสนุนเว็บไซต์ที่มีการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top