นายพาที สารสิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสายการบิน Really Cool สายการบินสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ประกาศยืนยันความพร้อมเปิดให้บริการในไตรมาสแรกของปี 67 ตามแผน ด้วยเครื่องบินแอร์บัส 330-300 ประเดิมบินญี่ปุ่น ก่อนเพิ่มอีก 2 ลำในปลายปี 67 เน้นบินเส้นทางในเอเชียช่วงสองปีแรก
นายพาที กล่าวว่า องค์ประกอบที่ซับซ้อนต่าง ๆ ในการเริ่มดำเนินงานสายการบินภายใต้แนวคิด ‘สายการบินไลฟ์สไตล์ที่ให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ’ (lifestyle full service) ได้เร่งพัฒนาไปสู่ขั้นสุดท้ายของการเปิดให้บริการแล้ว
“เราประสบความสำเร็จในการเตรียมงานทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับอนุญาตตามข้อกำหนดระเบียบการบิน การสนับสนุนด้านการปฏิบัติการ การจัดหาเครื่องบิน ความพร้อมด้านเทคโนโลยี และการเปิดรับและฝึกอบรมพนักงาน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ได้ถูกเตรียมพร้อมอย่างสมบูรณ์ ทำให้เราสามารถเริ่มให้บริการตามระยะเวลาอย่างที่ได้วางแผนไว้” นายพาที กล่าว
สายการบิน Really Cool มุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ด้วยการประยุต์ใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยกระดับประสบการณ์ของผู้โดยสาร โดยคาดว่าจะได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate: AOC) ซึ่งเป็นใบอนุญาตใช้เครื่องบินเพื่อการพาณิชย์ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ภายในเดือนมกราคม 2567 โดยสายการบิน Really Cool ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (Air Operating Licence: AOL) เป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นจาก กพท. ในการเปิดบริการสายการบิน
“ประเทศไทยไม่มีสายการบินสตาร์ทอัพรายใหม่เปิดให้บริการมาเป็นเวลานานแล้ว เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้” นายพาที อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสายการบินนกแอร์ กล่าว
นายพาที กล่าวว่า จังหวะการเปิดตัวของสายการบิน Really Cool ถูกวางไว้ให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ด้วยรายได้และผลกำไรของสายการบินที่พุ่งสูงขึ้นตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายการบินหลักทั่วโลก เช่น ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ลุฟท์ฮันซ่า เดลต้าแอร์ไลน์ โคเรียนแอร์ ไชน่าแอร์ไลน์ หรือแม้กระทั้งการบินไทย ซึ่งยังคงอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ก็สามารถทำกำไรได้หลังจากที่ประสบภาวะซบเซาทางการเงินมานานกว่าสามปี
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายประเทศจำกัดการเดินทางและเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะระหว่างปี 2563-2565 สถานการณ์โควิดมีความรุนแรง อุตสาหกรรมการบินได้เผชิญกับการสูญเสียรายได้รวมมากกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7.24 ล้านล้านบาท)
จากตัวเลขของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) นายพาที คาดว่าในปี 2566 สายการบินทั่วโลกจะสร้างรายได้สุทธิมากถึง 9,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.55 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากการคาดการณ์ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเดิมอยู่ที่ที่ 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท) และ IATA คาดว่าจะมีผู้โดยสารทางอากาศมากถึง 4,350 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 ที่มีประมาณ 4,540 ล้านคน
“ความต้องการในการเดินทางทางอากาศ ได้ฟื้นกลับมาในระดับที่สายการบินทั่วโลกต้องรีบเร่งขยายตัวกันอย่างรวดเร็ว” นายพาที กล่าว พร้อมเสริมว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับสายการบินสตาร์ทอัพอย่าง Really Cool
สายการบิน Really Cool พร้อมที่จะเริ่มให้บริการเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำในช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคมปีหน้า ก่อนที่จะเริ่มให้บริการตามเส้นทางและตารางการบินประจำ โดยจะเริ่มบินในเส้นทางระหว่างประเทศทั้งระยะกลางและระยะไกล จากฐานปฏิบัติการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติหลักของประเทศไทย
สายการบิน Really Cool จะจัดเช่าเครื่องบินชนิดไอพ่นประเภทลำตัวกว้าง รุ่นแอร์บัส A330-300 โดยมีการเจรจาพูดคุยอย่างต่อเนื่องที่จะจัดหาเครื่องบินไอพ่นขนาดใหญ่แบบทางเดินคู่ (Twin-Aisle Jets) ที่ทันสมัยและประหยัดเชื้อเพลิงมากยิ่งขึ้น เช่นเครื่องบินแอร์บัสรุ่น A350 และโบอิ้ง B787 ด้วยเช่นกัน โดยสายการบิน Really Cool จะเริ่มให้บริการด้วยเครื่องบินแอร์บัส A330-300 เป็นลำดับแรกจำนวนสองลำ ก่อนจะเพิ่มเครื่องบินรุ่นเดียวกันขึ้นอีกสองลำในช่วงปลายปี 2567
ในช่วงแรก สายการบิน Really Cool จะเริ่มให้บริการในเส้นทางสู่ประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะสนามบินนาริตะในเมืองโตเกียว และตั้งเป้าที่จะเปิดเส้นทางอื่น ๆ ในทวีปเอเชียเพิ่มเติมอีกภายในสองปีแรก เช่นฮ่องกง สิงคโปร์ และเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น โดยมีกำหนดการรับเครื่องบินเพิ่มอีกสองลำภายในปลายปีหน้า และจะขยายเส้นทางการบินสู่ทวีปยุโรปได้ในปี 2568 เน้นเมืองรอง เช่น จอร์เจีย
สายการบิน Really Cool คาดว่า 70% ของผู้โดยสารทั้งหมดจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย และอีก 30% เป็นกลุ่มผู้โดยสารชาวไทย ซึ่งถือเป็นการร่วมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ
นายพที กล่าวว่า Really Cool มุ่งมั่นที่จะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญของโครงสร้างทางธุรกิจ จึงมั่นใจว่า Really Cool มีโมเดลที่จะประสบความสำเร็จได้ แม้ในอุตสาหกรรมการบินที่มีความผันผวนสูง ซึ่งการก่อตั้ง Really Cool เป็นเพียงหนึ่งในธุรกิจภายใต้ บริษัท อาร์ ซี แอร์ไลน์ จำกัด ซึ่งทางองค์กรมีแผนนำแบรนด์มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจการบิน หรือรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวของกับการบิน โดย Really Cool จะร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อช่วยเพิ่มกระแสรายรับจากหลายช่องทาง สนับสนุนธุรกิจการบินและกระจายความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสายการบินโดยทั่วไป
“เราอาจได้เห็นแบรนด์ Really Cool ขยายไปสู่กิจการที่น่าตื่นเต้นได้อีกมากมาย โอกาสในการเติบโตนั้นเปรียบเสมือนท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ไร้ขีดจำกัด” นายพาที กล่าวสรุป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ย. 66)
Tags: Really Cool Airlines, ญี่ปุ่น, พาที สารสิน, ยุโรป, สตาร์ทอัพ, สายการบิน, เครื่องบิน, เส้นทางการบิน