บล.พาย มอง SET ค่อย ๆ ไต่ขึ้นหลังแรงกดดันเริ่มคลายตัวเชิงกลยุทธ์ “สะสม” ได้

บล.พาย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET สัปดาห์นี้ 1,410-1,440 จุด เชิงกลยุทธ์การลงทุนยังยังแนะสะสมได้สำหรับนักลงทุนระยะกลาง – ยาว จากระดับ Valuation ที่น่าสนใจแต่ยังเน้นที่หุ้นขนาดใหญ่ อาทิ ค้าปลีก (BJC CRC CPALL HMRPO) ท่องเที่ยว (AOT CENTEL MINT) ธนาคารพาณิชย์ (BBL KBANK KTB SCB) ศูนย์การค้า (CPN) กลุ่มสื่อนอกบ้าน (PLANB) ส่งออก (ITC TU) กลุ่มการเงิน (SAWAD TIDLOR) โรงภาพยนตร์ (MAJOR)

MINT (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 42.00 บาท) การเติบโตของกำไรเชิง QoQ ในไตรมาส 3/66 จะยังท้าทายเพราะการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและ MICE ในยุโรปยังฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่ แต่ทั้งนี้มองว่าบริษัทจะมีกำไรไตรมาส 3/66 ที่โตดี YoY เพราะกิจการโรงแรมที่แข็งแกร่งมากขึ้นในไทยและโอเชียเนีย

SAWAD (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 59.00 บาท) แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อที่แข็งแกร่งและการซื้อคืนเงินสดทันใจ (FM) กลับเข้ามา จึงคาดว่ากำไรสุทธิจะกลับสู่เส้นทางการเติบโตได้ในปี 66 หลังหดตัวลง 5.2% ในปี 65 เราประเมินว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิโตเฉลี่ยต่อปี 16.2% ในช่วงปี 66-68 ส่วนในครึ่งหลังปี 66 คาดกำไรสุทธิจะออกมาแข็งแกร่งที่ 2.8 พันล้านบาท (+21% HoH, +19% YoY)

บล.พาย ระบุว่า ตลาดหุ้น Dow Jones เมื่อคืนวันศุกร์ปิดบวก 0.66% นักลงทุนคลายกังวลดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หลังเผยภาคแรงงานอ่อนแอกว่าตลาดคาดการณ์ ด้านราคาน้ำมันดิบ BRT ปิดลบ 2.3% นักลงทุนคลายกังวลสถานการณ์อิสราเอล ฮามาส

คืนวันศุกร์ที่ผ่านมาสหรัฐฯรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร 1.5 แสนราย ซึ่งแย่กว่า Bloomberg Consensus คาดการณ์ที่ 1.78 แสนราย พร้อมกับรายงานอัตราการว่างงาน 3.9% แย่กว่า Bloomberg Consensus คาดการณ์ที่ 3.8% พร้อมกับการขยายตัวของค่าแรงที่ 0.2%MoM แย่กว่า Bloomberg Consensus คาดที่ 0.3%MoM นอกจากนี้ ยังรายงานดัชนี PMI ภาคบริการจากสถาบัน ISM ที่ระดับ 51.8 แย่กว่าคาดที่ 53 สำหรับการจ้างงานนอกภาคเกษตรอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ ภาคผลิต สินค้าคงทน คลังสินค้า สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มเห็นการอ่อนแอ

ภายหลังจากทราบข้อมูลทั้งหมดพบว่า US Bond Yield รุ่นอายุ 2 ปี และ 10 ปีปรับลงพร้อมกับ Dollar Index ที่พลิกมาอ่อนค่า ส่วน CME FED Watch ล่าสุดให้น้ำหนักราว 95% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในการประชุม เดือน ธ.ค. ปรับเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าที่ 80% ภาพรวมที่กล่าวไปข้างต้นค่อนข้างเป็นบวกตลาดหุ้น โดยเฉพาะเอเชียที่มีโอกาส Fund Flow จะไหลกลับมา สอดคล้องกับค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าทดสอบระดับ 35.4 บาท / ดอลลาร์สหรัฐฯ จากจุดสูง สุดที่ 37.2 บาท / ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับปัจจัยสัปดาห์นี้ได้แก่เงินเฟ้อไทยประจำเดือน ต.ค. ในวันจันทร์ Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 0.1%YoY , 0.1%MoM หากรายงานแล้วต่ำกว่าคาดจะยิ่งเป็นบวกกับตลาดหุ้น ส่วนต่างประเทศ รอติดตาม (1) ถ้อยแถลงของประธานเฟดในวันพุธช่วงกลางคืน (2) ดัชนี PMI ภาคบริการของ EU ในช่วงบ่ายวันจันทร์ (3) เงินเฟ้อจีนในวันพฤหัสบดีช่วงเช้าตามเวลาประเทศไทย Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ -0.2%YoY และในช่วงกลางคืนกับผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 2.18 แสนราย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top