Decrypto: โกง Crypto ติดคุกเป็น 100 ปี เป็นไปได้จริงไหม ?

ช่วงเวลานี้นักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลต่างนับถอยหลังรอเวลาที่ตลาดกระทิงจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักถึงบทเรียนที่ก่อให้เกิดความเสียหายในช่วงตลาดหมีครั้งก่อน เช่น กรณีล่มสลายของ FTX อดีตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับ 2 ของโลกด้วยเหตุทุจริตจากการบริหารงาน

โดยล่าสุด Sam Bankman-Fired (SBF) ผู้บริหารได้รับคำตัดสินให้ได้รับโทษหลายข้อหา ได้แก่ การฉ้อโกงเงินผ่านระบบธนาคาร สมคบคิดฉ้อโกงผ่านระบบธนาคาร ฉ้อโกงหลักทรัพย์ สมรู้ร่วมคิดฉ้อโกงสินค้าโภคภัณฑ์ และสมรู้ร่วมคิดในการฟอกเงิน ซึ่งมีโอกาสได้รับโทษจำคุกกว่า 115 ปีหากนับโทษจำคุกสูงสุดของทุกคดีรวมกัน

หากเปรียบเทียบกับกรณีการฉ้อโกง หรือ ทุจริต ในประเทศไทย หลายกรณีผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดก็อาจะได้รับโทษจำคุกในหลัก 100 ปีได้เช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามแล้ว ระยะเวลาสูงสุดสำหรับจำคุกบุคคลบุคคลหนึ่งนั้นกฎหมายจะกำหนดระยะเวลาสูงสุดเอาไว้

กฎหมายของประเทศไทยนั้น หากจำเลยได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลจะถือเกณฑ์คำนวณโดยใช้ระยะเวลา 50 ปีมาเป็นฐานในการคำนวณระยะเวลา ด้วยเหตุที่ว่าอายุของคนนั้นไม่ได้ยืนยาวเป็นร้อยปี ระยะเวลาดังกล่าวจึงถูกมองว่ายาวนานมาก ๆ แล้วในทางกฎหมายที่บุคคลจะได้รับโทษจำคุก และด้วยหลักคิดดังกล่าวจึงส่งผลถึงการคำนวณโทษในกรณีต่าง ๆ เช่น การลงโทษในความผิดหลายกรรมหรือหลายกระทง ซึ่งโดยปกติจะเป็นการลงโทษในกรณีฉ้อโกงบุคคลหลายคนหรือฉ้อโกงประชาชน ซึ่งกฎหมายได้วางหลักไว้ว่า เมื่อผู้ใดได้กระทำความผิดหลายกรรม (หลายครั้ง) ต่างกัน ศาลจะลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยโทษจำคุกจะต้องไม่เกิน

-สิบปี สำหรับความผิดกระทงหนักสุดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน สามปี

-ยี่สิบปี สำหรับความผิดกระทงหนักสุดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน สิบปี

-ห้าสิบปี สำหรับความผิดกระทงหนักสุดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปี เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

ดังนั้น จึงหมายความว่า แม้ผู้กระทำความผิดหรือจำเลยจะต้องได้รับโทษจำคุกยาวนานเพียงใด ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำคุกโดยรวมโทษให้เกินกว่ากำหนดดังกล่าวได้ ซึ่งมีกรณีให้ศึกษามาแล้วในอดีต เช่น “คดีแชร์แม่ชม้อย” ที่ศาลได้ติดสินให้จำเลยได้รับโทษจำคุกรวมกว่า 154,005 ปี แต่อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวเข้ากับหลักเกณฑ์ข้างต้นจึงทำให้แม่ชม้อยและพวกจำคุกคนละ 20 ปีเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษหนักเบาเพียงใด ก็ไม่ได้หมายความว่า นักลงทุน หรือ ประชาชน ที่ได้รับความเสียหายจากความผิดนั้น ๆ จะได้รับการเยียวยาบรรเทาความเสียหาย หรือได้รับทรัพย์สินคืนกลับมาดังเดิม ดังนั้น ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุน ควรพิจารณาศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ก่อนการลงทุนให้รอบด้านครบถ้วนเพื่อป้องกันความเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายที่เกิดจากการทุจริต ดังมีบทเรียนต่าง ๆ นับไม่ถ้วนในอดีตที่ผ่านมา

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top