BAY มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 35.20-35.90 คาดเฟดปิดจ๊อบขึ้นดอกเบี้ย

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.20-35.90 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.71 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.71-36.33

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงแรกเงินเยนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ผ่อนคลายมาตรการ Yield Curve Control เพิ่มเติมด้วยการคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) อายุ 10 ปีที่ราว 0% และกำหนดคำนิยามใหม่สำหรับบอนด์ยิลด์ที่ 1.0% ว่าเป็นจุดอ้างอิงแทนที่จะเป็นเพดานตายตัว นอกจากนี้บีโอเจยังส่งสัญญาณว่าไม่รีบยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบ สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนที่คาดว่าอาจมีการปรับนโยบายที่แข็งกร้าวมากกว่านี้เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทโลกและเงินเฟ้อในญี่ปุ่น

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงดอกเบี้ยที่ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นการตรึงดอกเบี้ยสองรอบประชุมติดต่อกัน ขณะที่ประธานเฟดระบุว่าเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง แต่ตั้งข้อสังเกตว่าบอนด์ยีลด์ระยะยาวที่พุ่งขึ้นทำให้ภาวะทางการเงินตึงตัวและอาจฉุดรั้งเศรษฐกิจในระยะถัดไป ท่าทีดังกล่าวทำให้ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าวงจรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจสิ้นสุดแล้ว ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีที่ 5.25% ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 3,171 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 21 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจะติดตามความเห็นของประธานเฟดในวันที่ 9 พ.ย. หลังการจ้างงานนอกภาคเกษตรและดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ ชะลอความร้อนแรงลง อีกทั้งค่าจ้างเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่กลางปี 64 ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปีแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ในภาวะเช่นนี้เรามองว่าค่าเงินดอลลาร์ได้สร้างฐานใหม่ที่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อไปในวงกว้างจากระดับปัจจุบัน คือ ตลาดต้องการเห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นว่าเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯแผ่วลงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

ส่วนปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับเงินเฟ้อไทยเดือน ต.ค. ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.4 พันล้านดอลลาร์ในเดือน ก.ย.สูงสุดรอบ 6 เดือน ด้านผู้ว่าการ ธปท.แสดงความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ โดยให้ความเห็นว่ากระแสเงินทุนไหลออกตั้งแต่ต้นปีนี้สวนทางประเทศอื่นๆในภูมิภาค และค่าเงินบาทผันผวนสูงเมื่อเทียบกับอดีต

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top