บริษัทโบอิ้งเปิดเผยเมื่อวานนี้ (1 พ.ย.) ว่า ทางบริษัทกำลังตรวจสอบเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบธุรกิจชิ้นส่วนเครื่องบินและการจัดจำหน่ายของบริษัท และกำลังร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ โบอิ้งยอมรับว่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากที่ล็อกบิต (Lockbit) กลุ่มอาชญากรไซเบอร์ได้ประกาศเมื่อวันศุกร์ (27 ต.ค.) ว่า ได้โจรกรรมข้อมูลสำคัญ “จำนวนมหาศาล” ของโบอิ้ง และจะปล่อยออกสู่โลกออนไลน์หากไม่จ่ายค่าไถ่ภายในวันที่ 2 พ.ย.
อย่างไรก็ตาม โบอิ้งปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่า เหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์ดังกล่าวเป็นฝีมือของล็อกบิตหรือไม่
โฆษกของโบอิ้งยืนยันว่า “ปัญหาดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเที่ยวบิน พร้อมกล่าวว่า “เรากำลังสืบสวนเหตุการณ์นี้อย่างจริงจังและกำลังให้ความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ โดยในขณะนี้ เรากำลังแจ้งให้ลูกค้าและซัพพลายเออร์ของเราทราบ”
หน่วยงานรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐ (CISA) ระบุว่า ล็อกบิตเป็นหนึ่งในกลุ่มแฮกเกอร์เรียกค่าไถ่ (ransomware) ระดับโลกที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดเมื่อปีที่แล้ว เมื่อพิจารณาจากจำนวนเหยื่อที่ทางกลุ่มออกมากล่าวอ้างบนเว็บบล็อกที่ปล่อยข้อมูลรั่วไหล
ทั้งนี้ แฮกเกอร์กลุ่มดังกล่าวมักติดตั้งซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ในระบบขององค์กรเหยื่อเพื่อปิดการใช้งาน รวมถึงโจรกรรมข้อมูลสำคัญเพื่อการข่มขู่
CISA ระบุเมื่อเดือนมิ.ย.ว่า ล็อกบิตทำการโจมตีองค์กรต่าง ๆ ของสหรัฐ 1,700 ครั้ง นับตั้งแต่ที่ซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ถูกพบบนฟอรัมอาชญากรรมไซเบอร์ภาษารัสเซียในเดือนม.ค. 2563
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ย. 66)
Tags: เครื่องบิน, โจมตีทางไซเบอร์, โบอิ้ง