หม่อมหลวงจันทรจุฑา จันทรทัต ประธานกรรมการ บมจ.เคมีแมน (CMAN) กล่าวว่า บริษัทได้จัดงาน ฉลองโอกาสครบรอบ 20 ปี ภายใต้ธีม “The Next Chapter Begins” นับจากการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 จากผู้ผลิตขนาดเล็กในประเทศเติบโตเป็นผู้นำระดับ Top 10 ของโลก ด้วยกำลังการผลิตปูนไลม์รวมกว่า 1,200,000 ตัน/ปี วางแผนก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำธุรกิจปูนไลม์ระดับ Top 5 ของโลก เดินหน้าขยายกำลังการผลิต เน้นกลยุทธ์เจาะตลาดเป้าหมายที่เติบโตสูงในเอเชียแปซิฟิก ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ พร้อมลงทุนพลังงานสะอาดช่วยลดโลกร้อน เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
“เราเริ่มต้นจากบริษัท Startup เมื่อ 20 ปีก่อน โดยช่วงแรกเน้นขายในประเทศเป็นหลัก ต่อมาจึงส่งออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งประสบความสำเร็จกลายเป็นผู้ผลิตปูนไลม์ที่ส่งออกมากที่สุดของเอเชียแปซิฟิก สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการปูนไลม์อันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทเก่าแก่มีอายุและประวัติที่ยาวนานกว่า 100 ปี เพราะว่า CMAN มีทีมงานที่เชี่ยวชาญและเข้าใจอุตสาหกรรมอย่างมาก มีแหล่งวัตถุดิบคุณภาพสูงในไทยและเวียดนามเป็นของตัวเองผสานกับเทคโนโลยีการผลิตระดับโลกสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับของลูกค้า มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาในการสร้างฐานลูกค้าให้แข็งแกร่งที่ประกอบด้วยลูกค้าชั้นนำมากกว่า 25 อุตสาหกรรม ครอบคลุมกว่า 30 ประเทศในทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย และแอฟริกา เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ และสิ่งสำคัญมากที่สุดสำหรับเรา คือการรักษาคำมั่นสัญญาในการส่งมอบสินค้าและบริการที่ให้ไว้กับลูกค้า ส่งผลให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าชั้นนำอย่างต่อเนื่อง และขยายไปถึงลูกค้าระดับโลกในที่สุด” มล.จันทรจุฑา กล่าว
ความต้องการใช้ปูนไลม์ในเอเชียแปซิฟิกมีการเติบโตสูงจากอุตสาหกรรม 2 ส่วน คือ อุตสาหกรรมที่เติบโตตามจีดีพีของประเทศ เช่น กระดาษ น้ำตาล อาหารสัตว์ ขวดแก้ว การเกษตร เป็นต้น และอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงตามแนวโน้มธุรกิจของโลก เช่น พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) แร่นิกเกิล แร่ลิเทียม เป็นต้น บริษัทฯ พบว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองแร่นิกเกิลมากที่สุดของโลก ได้ประกาศโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 12 โครงการ มูลค่ารวมสูงถึง 15 พันล้านเหรียญ ส่งผลให้เกิด new demand ของปูนไลม์ซึ่งใช้ในกระบวนการสกัดแร่นิกเกิล ทั้งนี้ บริษัทฯ ประเมินว่า ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียมีความต้องการใช้ปูนไลม์รวมมากกว่า 3 ล้านตันต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 ล้านตันต่อปี หลังจาก 12 โครงการข้างต้นเสร็จสมบูรณ์
ปัจจุบันบริษัทครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศประมาณ 40% และกำลังขยายธุรกิจเข้าไปในตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว ทั้งนี้ ปูนไลม์ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมจำนวนมากของโลกมายาวนานหลายร้อยปี มีการใช้ทั้งทางตรงในรูปของวัตถุดิบการผลิตและทางอ้อมในกระบวนการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้น ปูนไลม์จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมของโลกไปแล้ว และยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนาน เพราะมีคุณสมบัติทางเคมีที่เหมาะสมกับการใช้งาน ต้นทุนต่ำ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ย. 66)
Tags: CMAN, จันทรจุฑา จันทรทัต, ตลาดเอเชีย, เคมีแมน