รายงาน e-Conomy SEA ซึ่งวิเคราะห์ภาคธุรกิจหลัก 5 ภาคในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ่งชี้ว่า ในปี 2567 ธุรกิจท่องเที่ยวและขนส่งจะขยายตัวทะลุระดับสูงสุดของช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะยังคงเป็นธุรกิจที่สามารถรับมือกับความท้าทายและความผันผวนต่าง ๆ ต่อไปได้ แต่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น
5 ธุรกิจหลักที่อยู่ในเรดาร์ของรายงานฉบับนี้คือ อีคอมเมิร์ซ ท่องเที่ยว อาหารและขนส่ง ออนไลน์มีเดีย และบริการด้านการเงินแบบดิจิทัล โดยรวบรวมข้อมูลจากประเทศสำคัญ ๆ 6 ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รายงานฉบับนี้ยังจัดทำร่วมกันโดยกูเกิล, เทมาเส็ก และเบน แอนด์ คัมพานี
7 ไฮไลต์จากรายงาน e-Conomy SEA ที่สะท้อนความเคลื่อนไหวและอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีเรื่องอะไรบ้างนั้น In Focus ขออาสาพาไปส่อง
*เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวสวนทางความผันผวนทั่วโลก
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลกได้อย่างยืดหยุ่นเมื่อเทียบกับภูมิภาคต่าง ๆ โดยการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ยังอยู่สูงกว่าระดับ 4% ขณะที่เงินเฟ้อก็ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 3% ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ดีดตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 หลังจากที่ร่วงลงในช่วงครึ่งปีแรก
*ไพรเวตฟันด์ให้ความสำคัญกับการทำกำไร
นักลงทุนได้ปรับเปลี่ยนแปลงความคาดหวัง โดยเงินทุนจากไพรเวตฟันด์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น บริษัทที่ทำธุรกิจด้านดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า บริษัทมีแนวทางที่ชัดเจนในการทำกำไร
*ธุรกิจดิจิทัลมุ่งเน้นสร้างรายได้เพื่อทำกำไรตามเป้า
ธุรกิจดิจิทัลต่างเปลี่ยนโฟกัสไปยังการสร้างรายได้เพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมายในการทำกำไรในปี 2566 เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถทำรายได้ 1 แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัว 27% นับตั้งแต่ปี 2564 โดยธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ท่องเที่ยว ขนส่ง และมีเดีย ทำรายได้ถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์
*บริการด้านการเงินถึงจุดเปลี่ยน
ผู้บริโภคได้ปรับตัวเพื่อใช้บริการด้านการเงินแบบดิจิทัลในอัตราที่รวดเร็ว “Cash is no longer king.” หรือเงินสดจะไม่ใช่พระเจ้าอีกต่อไป เนื่องจากการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลนั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 50% ของการทำธุรกรรมทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวทางการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนยังคงเป็นรูปแบบการทำธุรกิจของกลุ่มบริษัทฟินเทค ในขณะที่บริษัทการเงินดั้งเดิมได้เร่งกระบวนการเปลี่ยนโฉมสู่ระบบดิจิทัล เพื่อที่จะดึงกลุ่มลูกค้าให้อยู่กับบริษัทต่อไป
*การดึงกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีมูลค่าสูงเอาไว้
ธุรกิจต่าง ๆ จะเดินหน้าทำกำไรและดึงกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีมูลค่าสูงไว้กับบริษัทเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กลุ่มผู้ใช้จ่ายระดับท็อปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 30% มีสัดส่วนมากกว่า 70% ของการใช้จ่ายในเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเฉพาะในธุรกิจเกม ท่องเที่ยว และขนส่ง โดยในระยะยาวนั้น บริษัทต่าง ๆ จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับกลุ่มลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น เพื่อที่จะขยายตัวต่อไปได้
*การเชื่อมช่องว่างของเศรษฐกิจดิจิทัล
เมื่อความเป็นดิจิทัลได้เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ชนบทก็มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น ผู้ให้บริการและธุรกิจก็ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ กลุ่มผู้บริโภคที่อยู่นอกเขตเมืองจึงเผชิญกับการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่ขยายวงมากขึ้น ดังนั้น การลงทุนเพื่อที่จะเชื่อมโยงช่องว่างที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างของเศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะท้ายที่สุดจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว
*เส้นทางสู่การทำกำไร
การแข่งขันจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผลเพื่อที่จะได้มาซึ่งความสามารถในการทำกำไรอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถขยายตัวอย่างเต็มที่ได้ด้วยการมีส่วนร่วมในวงกว้างขึ้น การเกิดขึ้นของกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ การลงทุนในระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบในระดับภูมิภาค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ย. 66)
Tags: e-Conomy SEA, ท่องเที่ยว, อีคอมเมิร์ซ, เศรษฐกิจดิจิทัล