บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเส้นทางบินใหม่สู่นครอิสตันบูล สาธารณรัฐทูร์เคีย เสริมความแข็งแกร่งของเครือข่ายเส้นทางบินของบริษัทฯ เริ่มทำการบิน 1 ธันวาคม 2566 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
อิสตันบูล เป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญยาวนานในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐทูร์เคีย จุดศูนย์กลางการเดินทางระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ที่สามารถเชื่อมต่อเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ของประเทศที่มีอาณาเขตเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐทูร์เคียและกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก ผ่านเครือข่ายสายการบินพันธมิตร สตาร์ อัลไลแอนซ์ โดยให้บริการเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-อิสตันบูล ทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A350
เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อิสตันบูล ทำการบินทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน
– เที่ยวบินที่ TG900 ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เวลา 23.45 น. เดินทางถึงอิสตันบูล เวลา 06.05 น. ของวันถัดไป (เวลาท้องถิ่น)
– เที่ยวบินที่ TG901 ออกเดินทางจากอิสตันบูล เวลา 16.30 น. (เวลาท้องถิ่น) เดินทางถึงกรุงเทพฯ เวลา 05.35 น. ของวันถัดไป
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดเมนูอาหารว่างที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทยและสาธารณรัฐทูร์เคียมาให้บริการในเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อิสตันบูล อีกด้วย
ทั้งนี้ การเปิดเส้นทางบินใหม่ของการบินไทยสู่อิสตันบูล นอกจากจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทฯ อาทิ เพิ่มทางเลือกใหม่ในการเดินทาง การเชื่อมต่อเที่ยวบินและการขนส่งสินค้าแล้ว ยังยกระดับการเป็นสายการบินที่มีเครือข่ายเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและออสเตรเลีย สนับสนุนนโยบายภาครัฐในการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับสาธารณรัฐทูร์เคียและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยุโรปตะวันออก ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งการกระจายฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากสาธารณรัฐทูร์เคียเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 85.3 ล้านคน และมีขนาดมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 906 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI กล่าวว่า การบินไทยได้พูดคุยความร่วมมือบินไปอิสตันบูลมากว่า 10 ปี แต่ก็ยังไม่เกิดผลสำเร็จ เพราะสนามบินอิสตันบูลเก่าแก่ไม่สะดวกกับการเดินทาง เครือข่ายเอเชียไปยุโรปมีไม่มาก แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปสิ้นเชิง สนามบินใหม่ที่อิสตันบูลเปิดก่อนเกิดโควิด ซึ่งถือเป็นสนามบินดีที่สุดในยุโรป ขณะเดียวกันสายการบินเตอร์กิชแอร์ไลน์ก็มีโครงข่ายบินไปยุโรปมากที่สุด
ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าการเปิดบินเส้นทางอิสตันบูลจะประสบผลสำเร็จ เพราะอิสตันบูลเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และจุดสำคัญเป็นจุดเชื่อมต่อเมืองต่างๆในยุโรป ที่มีมากกว่าที่การบินไทยทำการบินตรง โดยสามารถบินไปในยุโรปตะวันออก เอเชียกลาง จอร์เจีย อีกทั้งจากเมืองอิสตันบูลเข้าเมืองต่างๆในยุโรปได้ง่ายมาก ในทางกลับกัน การเดินทางจากอิสตันบูลเข้ามาไทย และเชื่อมต่อไปซิดนีย์ โฮจิมินห์ หรือเมืองต่างๆในเอเชียแปซิฟิก นับว่าเป็นโครงข่ายสำคัญ
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI คาดว่าในช่วงต้นปี 67 อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เส้นทาง กรุงเทพ -อิสตันบูล ราว 60-70% ในระยะแรกคาดว่าจำนวนผู้โดยสารยังมีไม่มาก ส่วนหนึ่งยอมรับว่าผู้โดยสารกังวลกับสงครามในอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส แต่ในส่วนการขนส่งสินค้า หรือคาร์โก้ มี load factor ที่ดีมาก
ส่วนการที่รัฐบาลยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวัน 6 เดือน ตั้งแต่ 10 พ.ย.66 นั้น นายชาย กล่าวว่า อินเดียเป็นตลาดใหญ่รองจากญี่ปุ่น โดยเส้นทางไปอินเดียที่ทำการบิน 6 เมือง มี Cabin Factor เฉลี่ย 70-75% คาดว่าหากได้ฟรีวีซ่า จะช่วยให้ผู้โดยสารอินเดียเติบโต 2 หลัก ขณะที่ตลาดจีนซึ่งเดิมเป็นตลาดใหญ่ของการบินไทยแต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาใกล้เคียงปกติ นอกจากนี้ บริษัทเตรียมจะเปิดบินเมืองใหม่ในอินเดีย 2 เมือง ซึ่งกำลังพิจารณาและสรุปว่าจะบินหรือไม่ภายในสิ้นปี 66
นายชาย ยังกล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4/66 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ยอด Cabin Factor ในเดือนพ.ย.-ธ.ค. ยังคงสูงใกล้ 80% ซึ่งเป็นไปตามเป้า ทั้งนี้ คาดว่า Cabin Factor ทั้งปี 66 จะเฉลี่ยที่ 78-79%
ขณะที่เครื่องบินของสายการบินไทยสมายล์ได้ทยอยโอนมาที่การบินไทยแล้ว 4 ลำ คาดว่าจะโอนแล้วเสร็จทั้ง 20 ลำ ภายในม.ค.67 และการบินไทย ซึ่งใช้โค้ด TG ทำการบินเส้นทางในประเทศแทนไทยสมายล์ ส่วนบริษัท ไทยสมายล์ ยังคงอยู่ กำลังจะพิจารณาว่าจะดำเนินธุรกิจอะไรต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 66)
Tags: THAI, กรุงเทพมหานคร, การบินไทย, รัฐทูร์เคีย, อิสตันบูล, เที่ยวบิน