NAM ปิดเทรดวันแรก 6.65 บาท ต่ำจอง 13.64% โบรกมองราคา IPO สูง

NAM ปิดเทรดวันแรกที่ 6.65 บาท ลดลง 1.05 บาท (-13.64%) มูลค่าซื้อขาย 831.33 ล้านบาท จากราคา IPO 7.70 บาท โดยราคาเปิดที่ 7.40 บาท ราคาสูงสุด 7.90 บาท ราคาต่ำสุด 6.40 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บมจ.นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น (NAM) จากการประเมินมูลค่าเบื้องต้นด้วยวิธี PER เฉลี่ยของผู้ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันในอุตสาหกรรมทั้ง SET และ MAI ที่ 22.4x เท่า ทำให้เรามองว่าราคา IPO อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

NAM เป็นผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์สิ้นเปลืองทางการแพทย์สำหรับใช้ร่วมกับเครื่องมือทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร เช่น ให้บริการหลังการขาย การบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ บริการทำให้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ปราศจากเชื้อ บริการบำบัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ และบริการวางแผนและปรับปรุงพื้นที่ส่วนจ่ายกลางของโรงพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้ 1) กลุ่มผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ (Manufacture and sales of medical devices หรือ”SM” ) 2) กลุ่มผลิตและจำหน่ายวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (Manufacture and sales of medical consumables หรือ “CS”) 3) กลุ่มงานให้บริการ (Services หรือ”SV”)

บล.ทิสโก้ เห็นว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะวัสดุสิ้นเปลืองมีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้ามาได้ง่าย เนื่องจากไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง ขณะที่เครื่องมือและอุปกรณ์ทำความสะอาดมีการใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่า จากคุณภาพและมาตรฐานที่ต้องรักษาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้เฉพาะและเงินลงทุนที่สูง ทำให้การแข่งขันไม่สูง

โดยบริษัทมีจุดเด่นจากการต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้การใช้งานสะดวกและควบคุมคุณภาพมาตรฐานได้มากขึ้น จึงสามารถเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลและมาตรฐานภายในประเทศ รวมทั้งการได้เป็นผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียวของบริษัทต่างประเทศหลายราย และมีฐานลูกค้าเป็นโรงพยาบาลและหน่วยงานองค์กรทางด้านสาธารณสุข กว่า 1,200 แห่ง ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของบริษัท

โดยบริษัทมีเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าไปสู่ Non-Health sector และขยายการเติบโตไปในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวกับการดูแลแลสุขภาพ (Healthcare) มากขึ้น ดังนั้นการระดมทุนตามวัตถุประสงค์เพื่อขยายธุรกิจในครั้งนี้จึงมีความเหมาะสม แต่มีประเด็นที่ต้องติดตามต่อ

การเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้จำนวน 181 ล้านหุ้น มาจากหุ้นสามัญเพิ่มทุน 105 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมของ WAI Global Corporation Limited 76 ล้านหุ้น ซึ่ง WAI Global Corporation Limited เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกง และจัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนและบริหารทรัพย์สินของครอบครัวชัยเทอดเกียรติ ทำให้ไม่มีสัดส่วนการถือหุ้นใน NAM แล้วภายหลังเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

รายได้ของบริษัทผันแปรตามการเติบโตของอุตสาหกรรมโรงพยาบาล ซึ่งรายได้ของบริษัทเติบโตต่อเนื่องทุกปี จากความเชื่อมั่นของลูกค้า ส่งผลให้สามารถขยายฐานลูกค้าไปต่างประเทศได้ มองว่าในระยะสั้น รายได้จะขยายตัวมากขึ้น จากการกลับมาสู่ระดับปกติของผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ระยะยาว รายได้เติบโตต่อเนื่องจากการขยายฐานลูกค้าและการให้บริการ จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมโรงพยาบาลมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งการขยายการให้บริการและขยายสาขา ประกอบกับรัฐบาลสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้อุปสงค์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น

อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไนสุทธิใน 1H66 เพิ่มขึ้น จากการควบคุมการเบิกใช้วัตถุดิบเพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ที่เพิ่มขึ้น 49% YoY ซึ่งเป็นสินค้าที่อัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่า ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น มองว่าในระยะสั้นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงขยายธุรกิจ ทำให้ต้องมีการลงทุนทั้งในแง่ของบุคลากร เครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโต อย่างไรก็ตามรายได้และอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นจะช่วยชดเชยได้บ้าง และหากบริษัทขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้น อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิจะสูงขึ้นในระยะยาว จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ทั้งสินค้าในเครื่องมือแพทย์และวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์

ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ : 1) ความสำเร็จของเป้าหมายในการขยายธุรกิจ 2) การวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ 3) รายจ่ายและงบประมาณด้านสาธารณสุข 4) นโยบายส่งเสริมจากรัฐบาล

ความเสี่ยง : 1) การพึ่งพิงลูกค้าภาครัฐ 2) ความผันผวนของราคาสแตนเลส 3) ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ต.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top