บล.พาย (Pi) ประเมิน SET INDEX สัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 1,350-1,400 เชิงกลยุทธ์การลงทุนยังแนะทยอยสะสมสำหรับลงทุนระยะกลางจากระดับ Valuation น่าสนใจ เน้นกลุ่มขนาดใหญ่ อาทิ ค้าปลีก (BJC CPALL HMPRO) ท่องเที่ยว (AOT CENTEL MINT) ธนาคาพาณิชย์ (BBL KBANK KTB SCB) ศูนย์การค้า (CPN) ส่งออก (TU) สำหรับ Trading ระยะสั้นเลือกกลุ่มน้ำมัน (PTTEP) และโรงกลั่น (BCP SPRC TOP) ปัจจัยบวกราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น
PTTEP (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 180.00 บาท)
ภาพรวมไตรมาส 4/66 และปี 2567 ก็ยังสดใสอยู่ หนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มหลังจาก OPEC+ ขยายการปรับลดปริมาณผลิต บวกกับปริมาณขายที่โตขึ้น (9% YoY in 2024) จากการเร่งกำลังผลิตที่แหล่ง G1/61
BBL (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 203.00 บาท)
ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2566-2568 เพราะอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่สูงกว่าคาด สืบเนื่องจากกำไรสุทธิที่โตแข็งแกร่ง 45% ในปี 2566 คาดการเติบโตของกำไรจะแผ่วลงเป็น 14% แต่ยังสูงกว่าคาดการณ์เฉลี่ยสำหรับกลุ่มโดยรวมที่ 11%
บล.พาย ระบุว่า ตลาดหุ้น Dow Jones คืนวันศุกร์ (27 ต.ค.) ปิดลบ 1.1% ปัจจัยกดดันยังคงมาจากความกังวลเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่อาจอยู่ระดับสูง หลังรายงาน PCE ที่สูงกว่าตลาดคาดการณ์ (MoM) ด้านราคาน้ำมันดิบ BRT ปิดบวก 2.9% กังวลกับสถานการณ์อิสราเอล
ด้านราคาทองคำปรับขึ้น จากความกังวลสถานการณ์ในตะวันออกกลาง สัปดาห์นี้นักลงทุนจะให้น้ำหนักกับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่จะทราบผลอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีช่วงเช้าตามเวลาประเทศไทย CME FED Watch ให้น้ำหนัก 99.9% ที่ FED จะคงดอกเบี้ยระดับเดิม
อย่างไรก็ตามมองปัจจัยสำคัญมากกว่าเรื่องของดอกเบี้ย ได้แก่ ถ้อยแถลงของ FED เนื่องจากการแข็งแกร่งของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯและเงินเฟ้อยังห่างไกล จากเป้าหมายของ FED จึงมีความเสี่ยงที่ประธาน FED อาจยังส่งสัญญาณเชิงเข้มงวดและจะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้น รวมถึงแนวโน้มดอกเบี้ยช่วงถัดไป เนื่องจากตาม Dot Plot FED ยังส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง แต่ยังสวนทางกับตลาดที่ประเมินว่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกแล้ว
ถัดมารอติดตามภาคแรงงานในสหรัฐฯในคืนวันศุกร์กับการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงาน Bloomberg Consensus ประเมินไว้ที่ 1.82 แสนรายและ 3.8% ตามลำดับ หากรายงานแล้วสูงกว่าคาดการณ์จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อตลาดหุ้นจากความกังวลเงินเฟ้อและดอกเบี้ย
สำหรับในประเทศรอติดตามแถลงเศรษฐกิจไทยจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และดุลบัญชีเดินสะพัดในวันที่ 31 ต.ค. Bloomberg Consensus ประเมินไว้เกินดุล 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 66)
Tags: AOT, BBL, CPN, KBANK, Pi, SET Index, บล.พาย, เฟด