นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมการจัดทำฟีดเดอร์ รถโดยสารสาธารณะเพื่อส่งเสริมการเดินระบบราง ภายใต้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย เมื่อวันที่ 27 ต.ค.66 ว่า ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บริษัท ขนส่งจำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดทำเส้นทาง รถโดยสารสาธารณะ เป็นระบบฟีดเดอร์ เชื่อมแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย แหล่งการค้า สถานศึกษา ที่มีความต้องการเดินทางจำนวนมาก เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และสีม่วง โดยให้มีความสะดวกและมีความถี่ที่เหมาะสม และเสนอกลับมาภายใน 7 วัน ซึ่งจะมีการประชุมติดตามอีกครั้ง ในวันที่ 3 พ.ย.66
“จากที่มีการทดลองวิ่งรถฟีดเดอร์เส้นทางจากมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีสถานศึกษาและหมู่บ้านเมืองเอก เป็นชุมชนหลักไปยังสถานีหลักหก ของสายสีแดง พบว่าทำให้ ผู้โดยสารที่สถานีหลักหก เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,000 คน /วัน เป็น 1,500 คน/วัน หรือ เพิ่มขึ้น 50% จะเห็นว่า ฟีดเดอร์มีผล และตอบโจทย์ จึงมีนโยบายให้พิจารณามีฟีดเดอร์เชื่อมกับทุกสถานีรถไฟฟ้า”นายสรพงษ์กล่าว
โดยกรณีสายสีแดง ที่ประชุมเห็นว่า โซนด้านเหนือ มีแหล่งชุมชนเช่น บริเวณตลาดวังน้อย หรือถนนรังสิต-นครนายก ,ย่านเซียร์ รังสิตเป็นแหล่งชุมชน ที่ความต้องการเดินทางจำนวนมาก สามารถใช้รถบขส.และรถขสมก. รวมถึงรถร่วมฯเอกชน เป็นฟีดเดอร์ วิ่งเชื่อมเข้าสู่สถานีรังสิตได้ ส่วนโซนตะวันตก อาจจะมีการจัดรถวิ่งวนจาก ถนนบรมราชชนนี -สถานีบางบำหรุ, ศาลายา-สถานีตลิ่งชัน เป็นต้น โดยสามารถที่จะปรับความถี่ ในการเดินรถโดยสารให้ลดลง เช่นจาก 30 นาทีเป็นทุก 10 นาที เพราะระยะทางวิ่งจะสั้นลงเมื่อปรับเป็นฟีดเดอร์เชื่อมสถานีกับรถไฟฟ้า
ส่วนสายสีม่วง รฟม.นำเสนอแผนใช้พื้นที่ อาคารจอดแล้วจร สถานีคลองบางไผ่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สามารถรองรับรถได้กว่า1,000 คัน โดยจัดตั้งเป็น”ศูนย์การคมนาคมขนส่งด้านตะวันตกกทม.” ถือเป็นจุดที่มีศักยภาพ ในการพัฒนา เป็นจุดต่อรถในเมืองและรถระหว่างเมือง โดยมี บขส. ,รถร่วม บขส.ที่เดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครปฐม (บางเลน) สุพรรณบุรี และชัยนาทอยุธยา ซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง คลองบางไผ่ ในอัตรา 20 บาทตลอดสายได้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณรถยนต์ที่จะวิ่งเข้าเมืองได้
ทั้งนี้บขส. ขสมก. จะกลับไปพิจารณา นำเสนอเส้นทางใหม่ หรือปรับ/ตัดเส้นทางเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และสีม่วงอย่างไรก็ตาม ที่ประชุมให้พิจารณาประเด็นทางกฎหมายด้วยว่า การปรับเส้นทางหรือจัดทำเส้นทางใหม่ จะมีผลกระทบต่อผู้ให้บริการเดินรถเดิมหรือไม่อย่างไร เช่น รถหมวด 4 เป็นต้น
เบื้องต้น หลังดำเนินนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย พบว่า ปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงเพิ่มขึ้นกว่า 20% สายสีม่วงเพิ่มประมาณ 5% แต่อาจจะยังประเมินผลได้ไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากยังเป็นช่วงเริ่มต้นและยังปิดเทอมอยู่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 66)
Tags: กระทรวงคมนาคม, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย, รถไฟฟ้าสายสีม่วง, รถไฟฟ้าสายสีแดง, สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์