นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่ไทยได้รับในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่ารวม 2,017.86 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ประมาณ 53% และตลาดที่ไทยมีการใช้สิทธิ GSP ส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ สหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่า 1,854.57 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 91.90% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่ใช้สิทธิ GSP
สำหรับการใช้สิทธิ GSP ในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ที่มีความน่าสนใจและมีอัตราการเติบโตได้ดีตามปริมาณความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากรายการแข่งขันกีฬาที่กลับมาคึกคักอย่างต่อเนื่องหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ สินค้าถุงมือสำหรับกีฬา อาทิ กอล์ฟ เบสบอล และการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบ โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 26.74 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้สหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยมากเป็นลำดับที่ 3 รองจากเวียดนามและอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 16.33% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเดียวกันจากทั่วโลก ซึ่งการนำเข้าที่ใช้สิทธิ GSP ทำให้ไทยได้รับการลดภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จากเดิมที่ต้องเสียภาษี 4.9% (MFN Rate) ลดลงเหลือ 0% นอกจากนี้ยังมีสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ สูง โดยสินค้าอันดับ 1 ยังคงเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ และสินค้าอื่นๆ อาทิ กรดมะนาวหรือกรดซิทริก อาหารปรุงแต่ง กระเป๋าเดินทาง ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ และเลนส์แว่นตา เป็นต้น
ขณะที่โครงการ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ที่สินค้ามีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ เพชรพลอยรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่า (สวิตเซอร์แลนด์) ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่ม (สวิตเซอร์แลนด์) หน้าปัดนาฬิกาชนิดคล็อกหรือวอตซ์ (สวิตเซอร์แลนด์) ข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) สูทของสตรีหรือเด็กหญิงทำด้วยขนแกะหรือขนละเอียดของสัตว์ (นอร์เวย์) เนื้อสัตว์แปรรูป (นอร์เวย์) สับปะรดกระป๋อง ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (CIS) เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 66)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, การค้า, การค้าระหว่างประเทศ, ถุงมือ, รณรงค์ พูลพิพัฒน์, ส่งออก