นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นตามลำดับหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ในส่วนของภาคท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างชัดเจน ผู้บริโภคดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการจับจ่ายใช้สอยกันตามปกติ รวมทั้งเริ่มมองหาและขยายที่อยู่อาศัย ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น
จากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจนิติบุคคลอาคารชุดและนิติบุคคลสำนักงานช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 137 ราย ทุนจดทะเบียน 282.57 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 150 ราย (เพิ่มขึ้น 13 ราย หรือ 9.49%) ทุน 334.50 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 51.93 ล้านบาท หรือ 18.38%) ปี 2565 จัดตั้ง 300 ราย (เพิ่มขึ้น 150 ราย หรือ 100%) ปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) 553 ราย (เพิ่มขึ้น 345 ราย หรือ 165.87% : ม.ค.-ก.ย.65 จัดตั้ง 208 ราย) ทุน 1,790.48 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,183.62 ล้านบาท หรือ 195.04% : ม.ค.-ก.ย.65 ทุน 606.86 ล้านบาท)
ปัจจุบันธุรกิจนิติบุคคลอาคารชุดและนิติบุคคลสำนักงานที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 30 กย.66 มีจำนวน 3,818 ราย คิดเป็น 0.44% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ (885,521 ราย) และมีมูลค่าทุน 37,434.77 ล้านบาท คิดเป็น 0.17% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย (21.50 ล้านล้านบาท)
ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 3,676 ราย (96.28%) และห้างหุ้นส่วนสามัญ/ห้างหุ้นส่วนจำกัด 142 ราย (3.72%) สถานประกอบการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคใต้จำนวน 1,354 ราย (35.46%) รองลงมา คือ กรุงเทพมหานคร 1,188 ราย (31.12%) ภาคตะวันออก 678 ราย (17.76%) ภาคกลาง 380 ราย (9.95%) ภาคเหนือ 108 ราย (2.83%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 61 ราย (1.60%) และภาคตะวันตก 49 ราย (1.28%) โดยจังหวัดในภูมิภาคที่มีนิติบุคคลคงอยู่สูงสุด คือ สุราษฎร์ธานี 917 ราย
ธุรกิจนิติบุคคลอาคารชุดและนิติบุคคลสำนักงานเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งเมื่อโครงการทำการขายคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรรไปยังลูกค้าแล้วจะมีการส่งต่อการดูแลธุรกิจพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้านจัดสรรให้นิติบุคคล ซึ่งเรียกว่านิติบุคคลอาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลาง และอำนวยความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัยภายในอสังหาริมทรัพย์นั้น ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้มีการจัดตั้งเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นผลมาจากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามธุรกิจนิติบุคคลอาคารชุดและนิติบุคคลสำนักงานยังต้องพัฒนาการบริการเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและควรนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจเพื่อลดต้นทุนและสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 66)
Tags: นภินทร ศรีสรรพางค์, อสังหาริมทรัพย์, เศรษฐกิจไทย