นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง ซึ่งการขยายตัวทำได้ในระดับ 3% ถือเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 30 ปี
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากผลของปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งความเสี่ยงใหม่ เช่น ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ซึ่งมีผลกระทบต่อการค้าโลก ตลอดจนปัญหาใหม่ล่าสุด คือ ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่เกิดความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานโลก
ดังนั้น ในเวทีโลกจึงห่วงเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะ IMF ที่แนะนำว่าแต่ละประเทศควรมุ่งเน้นทำนโยบายที่ดูแลเสถียรภาพเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย เพราะผลจากสงครามอาจทำให้เกิด Inflation Shock
นอกจากนี้ ยังต้องสร้างกันชนทางภาคการคลัง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาหลังสถานการณ์โควิด แต่ละประเทศต่างใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคการคลังกันมาก ดังนั้น IMF เห็นว่าควรมุ่งเน้นลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเร่งปรับลดหนี้สาธารณะ เพื่อเตรียมรับมือ shock ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันจะต้องดูแลเสถียรภาพด้านการเงินไปด้วย และให้ความใส่ใจกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล และธุรกิจสีเขียว
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย แม้เสถียรภาพโดยรวมจะค่อนข้างโอเค แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ โดยเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ค่อนข้างดี เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัด, หนี้ต่างประเทศที่ไม่สูง, ทุนสำรองเพียงพอ และเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ แต่ส่วนที่ยังไม่โอเค หรือโอเคน้อย คือ หนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงถึง 90.7% ต่อ GDP แม้จะลดจากช่วงที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 94% แต่ก็ถือว่ายังสูง ซึ่งควรกลับลดลงมาอยู่ในระดับปกติที่ 80% รวมทั้งหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับ 61.7% ต่อ GDP ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วงก่อนโควิดหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับ 40% ต่อ GDP เท่านั้น
ขณะที่เสถียรภาพตลาดทุนที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลออกตั้งแต่ต้นปีราว 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านตลาดหุ้นและพันธบัตร สวนทางกับประเทศอื่น สูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงรองจากที่เงินทุนเคยไหลออกสูงสุด 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนก็มีความผันผวน 8-9% สูงกว่าอดีตและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นรองแค่ประเทศเกาหลีใต้ที่ผันผวน 12%
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency’s) ยังชี้ว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะถูกปรับลดมุมมองจากระดับเสถียรภาพ หากนโยบายภาคการคลังมีความเสี่ยง ดังนั้นควรมุ่งลดรายจ่าย ทยอยปรับลดการขาดดุล ปรับลดหนี้สาธารณะ มีมาตรการเพิ่มรายได้ ซึ่งล่าสุดมีบางบริษัทให้ความกังวลภาระหนี้ต่องบประมาณ ไม่ควรเกิน 12% ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในระดับ 10% กว่า
สิ่งที่ ธปท.จะต้องทำในระยะต่อไป คือ ต้องมองภาพในระยะปานกลางมากขึ้น การทำนโยบายที่พร้อมรองรับกับสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด การดูแลระดับเงินเฟ้อไม่ให้สูงและเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต มีภูมิคุ้มกันหรือมีกันชนที่สามารถทนทานกับ Shock ในด้านต่างๆ มี Policy space ที่เพียงพอในการทำนโยบายการเงิน และสุดท้ายจะต้องมี option หรือมีทางเลือกไว้สำรองคู่ขนาน เพื่อสร้างโอกาสที่เติบโตจากสิ่งใหม่ๆ
ด้าน น.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวถึงความผันผวนของค่าเงินบาทว่า มาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก เช่น การคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะใช้นโยบายนี้ไปอีกนานเท่าใด, นโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น จีน ซึ่งก็ยังไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นได้จริงหรือไม่ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ค่อนข้างมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ดี ความผันผวนของค่าเงินบาทเริ่มลดลงบ้างจากช่วงปลายปีก่อนถึงต้นปีนี้ ที่ค่าเงินเคยผันผวนไปมากถึง 10% ซึ่ง ธปท.ยังดูแลใกล้ชิด และให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ก็ต้องไม่ผันผวนเกินไปจากปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นความผิดปกติที่เกิดจากความผันผวนของค่าเงินในระดับดังกล่าว
“ตอนนี้ ความผันผวนก็ลดลงบ้างแล้ว เราดูแลอย่างใกล้ชิด และให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งยังไม่เห็นความผิดปกติที่เกิดจากความผันผวนของค่าเงิน ถ้าผันผวนจนผิดปกติ เราก็จะดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง” น.ส.พิมพ์พันธ์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 66)
Tags: IMF, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารโลก, ธปท., พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ, หนี้ครัวเรือน, หนี้สาธารณะ, เศรษฐกิจโลก, เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ