นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือแนวทาง การจัดกิจกรรม “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ไทย ว่า วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเชิญสถาบันการเงิน 12 แห่ง และ 6 หน่วยงานพันธมิตร เข้าร่วมหารือเพื่อวางแนวทางการสนับสนุนแหล่งเงินทุน พร้อมออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ประกอบด้วย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารยูโอบี ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมทั้ง ได้เชิญ 6 หน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สมาคมธนาคารไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยมีตนนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม
รมช.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า การประชุมในครั้งนี้ ประเด็นสำคัญ คือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยของไทยให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมประชุมพิจารณาออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือแพคเกจพิเศษแก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยเป็นการเฉพาะ ทั้งกรอบวงเงิน อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ระยะเวลาการผ่อนชำระ การค้ำประกัน/หลักประกันการเงินกู้ เงื่อนไขพิเศษอื่นๆ และการอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็วขึ้น รวมทั้ง ขอความร่วมมือจาก 6 หน่วยงานพันธมิตรให้การส่งเสริมสนับสนุนและสร้างความยั่งยืนแก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการจัดงานใหญ่เพื่อผู้ประกอบการ SMEs ไทย ชื่องาน ‘มหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย’ ที่จะจัดขึ้นช่วงต้นปี 2567 ซึ่งกิจกรรม ‘จับคู่กู้เงิน’ ระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยกับสถาบันการเงิน จะเป็น 1 ไฮไลท์สำคัญของการจัดงาน เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่สามารถจับต้องและเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน หากการจับคู่ดังกล่าวประสบความสำเร็จจะสะท้อนถึงภาพการผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน และหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมกันให้ความช่วยเหลือและผลักดันให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น เป็นการขยายโอกาสทางการค้า ขยายการลงทุน เพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งแหล่งเงินทุนดังกล่าวถือเป็นหัวใจหลักและเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการของคนตัวเล็กที่มีสายป่านด้านเงินทุนที่ไม่ได้ยาวมากนัก การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการต่อยอดให้ผู้ประกอบการรายย่อยของไทยสามารถเดินบนเส้นทางธุรกิจได้อย่างมั่นคง สร้างแต้มต่อทางธุรกิจ และมีเสถียรภาพเพียงพอในการประกอบกิจการ พร้อมเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินไปข้างหน้าด้วยความแข็งแกร่ง
‘มหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย’ และ กิจกรรม ‘จับคู่กู้เงิน’ เป็นภารกิจเร่งด่วน Quick Win ของกระทรวงพาณิชย์ ในการสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ SMEs ผลลัพธ์สำคัญของการจัดงานเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชน เศรษฐกิจในประเทศเกิดการหมุนเวียน และช่วยขยายตลาดแก่ผู้ประกอบการ SMEs เบื้องต้น กำหนดจัดมหกรรมฯ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และ 3 ภูมิภาคของประเทศ คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ โดยกิจกรรมหลักภายในงาน ประกอบด้วย 1) การเปิดพื้นที่ให้ SMEs เข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้า อาทิ ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจอาหาร ผลิตภัณฑ์ชุมชน กว่า 100 คูหา 2) การเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจ 3) การสร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพธุรกิจโดยการจัดอบรมสัมมนาในหัวข้อที่ SMEs จำเป็นต้องรู้เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น กฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศ สิทธิประโยชน์ FTA และแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น 4) การให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ภายใต้กิจกรรม ‘จับคู่กู้เงิน’ และ 5) การให้คำปรึกษาด้านการทำธุรกิจ เทคนิคการขอสินเชื่อสถาบันการเงินจากผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์
เบื้องต้นที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า SMEs ไทยมีความต้องการหลัก คือ ‘มีความรู้ กู้เงินได้ ขายของดี มีกำไร ใช้หนี้ทัน’ ซึ่งการประชุมหารือวันนี้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้ทุกข้อ ส่งผลให้การหารือเป็นไปด้วยดีในทิศทางเดียวกัน สถาบันการเงินและหน่วยงานพันธมิตรพร้อมให้ความช่วยเหลือ/สนับสนุนการจัด ‘มหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย’ และ กิจกรรม ‘จับคู่กู้เงิน’ อย่างเต็มที่ และยินดีร่วมผลักดันให้ SMEs ไทย สร้างมูลค่าทางการตลาดและมีอัตราการเติบโตทะลุ 40% ของ GDP ประเทศ พร้อมรับนโยบายไปดำเนินงานเพื่อแปลงความต้องการด้านสินเชื่อ/ขอรับการสนับสนุนด้านต่างๆ ของผู้ประกอบการ SMEs ให้กลายเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริง โดยขอให้กระทรวงพาณิชย์เป็นแกนกลางในการประสานงานระหว่างผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน และหน่วยงานพันธมิตรเพื่อให้เกิดความคล่องตัว
ทั้งนี้ กิจกรรมจับคู่กู้เงินจะช่วยลดต้นทุนการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ในระดับหนึ่ง ลดการกู้ยืมเงินนอกระบบ เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยธุรกิจให้แน่นแฟ้นขึ้น รวมถึง การได้รับคำปรึกษาจากหน่วยงานพันธมิตรอย่างตรงจุด ทำให้เข้าถึงสินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเหมาะสมกับผู้ประกอบการแต่ละประเภท สามารถนำไปปรับใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุประสิทธิผลสูงสุด ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามมา สอดรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้แก่ภาคธุรกิจและประชาชน
“ขอขอบคุณสถาบันการเงิน/หน่วยงานพันธมิตรที่เข้าร่วมประชุม และยินดีให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนพร้อมทั้งให้การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในครั้งนี้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการรายย่อยระยะยาว เป็นการสร้าง/ขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม รวมทั้ง ช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่
เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการลงทุนของภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง และเอื้อต่อการเข้าสู่แวดวงธุรกิจมากขึ้น โดยมีหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และพร้อมส่งเสริมให้ SMEs ไทยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภาครัฐโดยเฉพาะกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอย่างเข้มข้นในการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบการ และหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้ SMEs อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีความมั่นใจว่า ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพสูงที่พร้อมสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจประเทศ โดยตั้งเป้าว่า อีก 4 ปีข้างหน้า SMEs ไทยจะสร้างมูลค่าตลาดและเติบโตทะลุ 40% ของ GDP ประเทศ”
รมช.พาณิชย์กล่าวทิ้งท้าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 66)
Tags: SMEs, นภินทร ศรีสรรพางค์, สถาบันการเงิน