ทองคำนิวยอร์กปิดบวก 1.10 ดอลลาร์ วิกฤตตอ.กลางหนุนแรงซื้อ

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (27 ต.ค.) เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 1.10 ดอลลาร์ หรือ 0.06% ปิดที่ 1,998.50 ดอลลาร์/ออนซ์

  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 2.10 เซนต์ หรือ 0.09% ปิดที่ 22.887 ดอลลาร์/ออนซ์

  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 3.20 ดอลลาร์ หรือ 0.35% ปิดที่ 905.80 ดอลลาร์/ออนซ์

  • สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 12.60 ดอลลาร์ หรือ 1.10% ปิดที่ 1,130.20 ดอลลาร์/ออนซ์

นักลงทุนพากันเข้าซื้อสัญญาทองคำ หลังจากมีรายงานว่ากองกำลังอิสราเอลได้ทำการโจมตีภาคพื้นดินครั้งใหญ่ที่สุดในฉนวนกาซา

นอกจากนี้ นักลงทุนจะจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. และนักลงทุนยังให้น้ำหนัก 79.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 57.9% ในเดือนที่แล้ว

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 3.4% เช่นกันในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% เช่นกันในเดือนส.ค.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่เปิดเผยในวันศุกร์บ่งชี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 63.8 ในเดือนต.ค. จากระดับ 68.1 ในเดือนก.ย. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.0

ผู้บริโภคลดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.2% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 3.8% และผู้บริโภคยังคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ไม่เปลี่ยนแปลงจากการสำรวจเดือนที่แล้ว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top