น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตามการคาดหมายลักษณะอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ช่วงครึ่งหลังของเดือน ต.ค.66 ร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกจะเลื่อนลงไปพาดผ่านบริเวณภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นและอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคตะวันออกและต่อเนื่องลงมาจนถึงอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง และเกิดคลื่นลมกำลังแรงและคลื่นสูงในบางช่วง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน สถานการณ์น้ำ และประเมินความเสี่ยงการเกิดอุทกภัย น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจของจังหวัด พื้นที่ท้ายเขื่อน อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก และพื้นที่เชิงเขา มีการวางแผนติดตั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัยในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า ตลอดจนแผนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แต่ละจังหวัดให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัย โดยใช้การสื่อสารทุกช่องทางเพื่อให้ข้อมูลไปถึงประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหอกระจายข่าว วิทยุชุมชน สื่อสังคมออนไลน์ เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมสำหรับออกช่วยเหลือประชาชน ส่วนกรณีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ต้องมีมาตรการแจ้งเตือน การปิดกั้นหรือห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่
สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้กำชับสถานประกอบการ โรงแรม สื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังและห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรง โดยหากมีแนวโน้มเกิดคลื่นลมแรง คลื่นซัดชายฝั่ง ให้แจ้งเตือนเดินเรือด้วยความระมัดระวัง นำเรือเข้าที่กำบัง และห้ามการเดินเรือช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด หากพบว่ามีเรือขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่นอกชายฝั่งที่อาจจะเป็นอันตราย ให้นำเรือดังกล่าวกลับเข้าฝั่งเพื่อความปลอดภัย หากมีการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายในทุกกรณี
ในกรณีต้องเผชิญเหตุ เมื่อเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการจากหน่วยงานทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพ การจัดตั้งโรงครัวพระราชทานประกอบเลี้ยงผู้ประสบภัย การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ และประชาสัมพันธ์การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจและพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ในกรณีที่ประเมินแล้วว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มรุนแรง ให้สั่งการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันทีจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหายให้ครบถ้วนทุกด้าน โดยเฉพาะบ้านเรือนที่พักอาศัย พื้นที่การเกษตร สิ่งสาธารณประโยชน์ โดยบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน เข้าซ่อมแซมและฟื้นฟูความเสียหายด้านต่าง ๆ ให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว ขณะเดียวกันต้องให้ความช่วยเหลือตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรายงานกระทรวงมหาดไทยทราบผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางเป็นประจำทุกวันจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
“กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติให้ความสำคัญในการดำเนินมาตรการป้องกันก่อนเกิดภัย จึงกำชับให้ทุกจังหวัดติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ เตรียมความพร้อมในมิติต่างๆ ตลอดจนสร้างการรับรู้กับภาคส่วนต่างๆ โดยยึดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ หากพี่น้องประชาชนตกอยู่ในภัยพิบัติสามารถติดต่อหน่วยงานเพื่อแจ้งและขอรับความช่วยเหลือผ่านสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 66)
Tags: กระทรวงมหาดไทย, น้ำท่วมขัง, ฝนตก, ฝนตกหนัก, อนุทิน ชาญวีรกูล, อุทกภัย, ไตรศุลี ไตรสรณกุล