สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันพฤหัสบดี (26 ต.ค.) เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ดี ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงได้สกัดแรงบวกของสัญญาทองคำในระหว่างวัน
- ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 2.50 ดอลลาร์ หรือ 0.13% ปิดที่ 1,997.40 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 9.90 เซนต์ หรือ 0.43% ปิดที่ 22.908 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 3.40 ดอลลาร์ หรือ 0.37% ปิดที่ 909.00 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 9.20 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 1142.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียเตือนว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส อาจลุกลามออกนอกตะวันออกกลาง พร้อมกับกล่าวว่า กองกำลังนิรนามบางกลุ่มกำลังพยายามยั่วยุให้สถานการณ์บานปลาย และดึงประเทศอื่น ๆ เข้าสู่ความขัดแย้งในครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ตลาดทองคำถูกกดดันในระหว่างวัน จากกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการ GDP ไตรมาส 3/2566 ครั้งที่ 1 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 4.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.7% หลังจากมีการขยายตัว 2.0% และ 2.1% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พุ่งขึ้น 4.7% ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 2.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐในวันนี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 66)
Tags: COMEX, ทองคำนิวยอร์ก, ราคาทอง, ราคาทองคำ