WINDOW ปิดเทรดวันแรก 1.27 บาท พลิกร่วงต่ำจอง 39.52% เจ้าของยันกอดหุ้นแน่น-ส่องช่องทำ M&A

WINDOW ปิดเทรดวันแรกที่ 1.27 บาท ลดลง 0.83 บาท (-39.52%) มูลค่าซื้อขาย 1,569.98 ล้านบาท จากราคา IPO 2.10 บาท ราคาเปิด 2.84 บาท ราคาสูงสุด 2.86 บาท ราคาต่ำสุด 1.18 บาท

นายธนินทร์ รัตนศิริวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.วินโดว์ เอเชีย (WINDOW) ประกาศเดินหน้านำเงืนจากการระดมทุนสยายปีกโต ยืนยันมกอดหุ้นแน่น เพราะมั่นใจธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้อีกยาวไกล วอนนักลงทุนมั่นใจ

WINDOW เป็นผู้นำด้านการผลิตและผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประตูและหน้าต่างที่ทำจากอลูมิเนียมและยูพีวีซี โดยมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบบสำเร็จรูปและแบบสั่งผลิต ตอกย้ำผู้นำด้าน Innovation Window and Door System คาดผลงานปีนี้รายได้ทำจุดสูงสุดใหม่ หรือ New High หลังตัวเลขงบการเงินสดใส พร้อมโชว์สถิติย้อนหลังช่วงปี 63-65 บริษัทมีรายได้รวม 747.50 ล้านบาท 835.51 ล้านบาท และ 913.35 ล้านบาท

รวมถึง โอกาสในอนาคตที่จะสร้าง New S-Curve ด้วยการขยายธุรกิจจากการเข้าควบรวมหรือซื้อกิจการคู่แข่ง (M&A) ซึ่งจะเพิ่มความหลากหลายทางธุรกิจ และอาจเป็นการขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มลูกค้าใหม่หรือตลาดใหม่ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) และเป็นการลดจำนวนคู่แข่งในตลาดอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะอยู่ในเป้าหมายและแผนธุรกิจซึ่งคาดว่าดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปีข้างหน้า เดินหน้าสู่การเติบโตรอบใหม่

ขณะที่ บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากการประเมินมูลค่าเบื้องต้นหุ้น WINDOW ด้วยวิธี Forward PER ซึ่งได้ 2024F EPS = 0.12 และอิงตัวคูณที่ 2024F Forward PE ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีของอุตสาหกรรม SET CONMAT ที่ 14.00 เท่า ได้มูลค่าเหมาะสมที่ 1.68 บาท ซึ่งมี Downside จากราคา IPO -20.00%

WINDOW มีรายได้หลักมาจากการขายผลิตภัณฑ์ให้แก่ร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทฯ บริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่าน Modern Trade จำนวน 305 สาขาผ่านตัวแทนจำหน่ายได้แก่ Homepro, บุญถาวร, ไทวัสดุ, Homehub, Dohome, Global ฯลฯ ซึ่งสัดส่วนนี้ถือเป็นสัดส่วนหลักที่สร้างรายได้สัดส่วนสูงถึง 75.9% ของรายได้ทั้งหมดของงบกำไร/ขาดทุน 6M23 สำหรับช่องทางผ่าน Traditional Trade คิดเป็นสัดส่วน 10.5% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่บริษัทก็มีสาขา Window Asia Shop ซึ่งเป็นร้านค้าของบริษัทเองโดย 42 สาขาคิดเป็น 8.5% ของรายได้ทั้งหมด

บริษัทมีผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ หน้าต่าง และประตูซึ่งทำจากวัสดุอลูมิเนียม และ UPVC โดยจะมีการทำแบรนด์เฉพาะสำหรับช่องทางขายต่าง ๆ เช่น Framex เป็นแบรนด์ขายผ่านช่องทางไทวัสดุ หรือรับจ้างผลิต (OEM) Finext ให้ช่องทาง Dohome เป็นต้น

แผนขยายธุรกิจ B2B และเน้นการผลิตแบบ Tailor-made

เนื่องจากกลุ่มธุรกิจหน้าต่างและประตูสำเร็จรูปประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งปัจจุบันบริษัทคาดว่ามีส่วนแบ่งการตลาดอันดับที่ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ซึ่งบริษัทประเมินจากผู้เล่นรายใหญ่แล้วคาดว่าตลาดมีขนาดราว 4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์หน้าต่างสำเร็จรูปและประตูสำเร็จรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มลูกค้าจะเป็นลูกค้ารายย่อยเนื่องจากความสะดวก และราคาที่จับต้องได้ แต่สำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้างบ้านโครงการ (Property Development) จะมีการออกแบบบ้าน สิ่งก่อสร้างต่างออกไปในแต่ละโครงการทำให้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างเต็มที่ บริษัทจึงมีแผนทำการตลาด B2B ผลิตแบบตามสั่ง (Tailor-made) มากขึ้นเพื่อจะสร้างการเติบโตใหม่ในกลุ่มธุรกิจใหม่ ถือว่าอาจจะเป็น New-S Curve

กำลังการผลิตและการเพิ่มกำลังการผลิต บริษัทคาดว่าโรงงานจะก่อสร้างเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2023 ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกราว 50% จากกำลังการผลิตเดิมที่มีอยู่แล้ว 8 แสนตร.ม. ต่อปี ซึ่งกำลังการผลิตเดิมนั้นมาจาก 2 โรงงานในจังหวัดกาญจนบุรี

สำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.66 บริษัทมียอดขายจากหน้าต่างสำเร็จรูปคิดเป็น 75.7% ของรายได้ทั้งหมด และรายได้จากประตูสำเร็จรูป 20.7% ทั้ง 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์นั้นรายได้จะมาจากผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมเป็นสัดส่วนหลัก รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์จากวัสดุ UPVC คิดเป็น 61.1% และ 35.3% ตามลำดับ

ปัจจุบันทางบริษัทมีรายได้จากร้านค้าก่อสร้างวัสดุสมัยใหม่ (Modern trade) เป็นสัดส่วนหลักถึง 75.9% นอกจากนี้บริษัทขายสินค้าแบบขายขาดคิดเป็น 70-80% และฝากขายราว 20% ซึ่งถือว่าดีเนื่องจากการขายขาดจะมีการเก็บเงินที่เร็วกว่าการฝากขายทำให้กระแสเงินสดบริหารได้คล่องตัวกว่า และสำหรับการเติบโตของรายได้นั้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตเฉลี่ย 12.46% ต่อปี หรือหากคิดเป็นอัตราการเติบโตแบบทบต้น (Compound Annual Growth rate) จะเท่ากับ 7% ต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีรวมถึงในปี 2020 ที่เผชิญภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากการแพร่ระบาด COVID-19 ยอดขายของบริษัทก็ยังคงเติบโตสะท้อนความสามารถในการดำเนินงานที่ดีแม้ในยามวิกฤติ

ในระยะสั้น เรามองว่าสภาวะเศรษฐกิจในช่วงในไตรมาส 4/66 จะยังมีความไม่แน่นอนสูงจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่สูง นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้สภาวะของตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง และยังเผชิญแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติซึ่งมีการขายหุ้นไทยนับจากต้นปีถึงไตรมาส 3/66 สูงถึง -1.58 แสนล้านบาท ในขณะเดียวกันผลตอบแทนของดัชนี SET CONMAT ปรับตัวลดลงจากต้นปี -15.62% ดังนั้นเราจึงมีมุมมองเน้นความระมัดระวังในการลงทุน นอกจากนี้ราคา IPO ที่ 2.10 บาทสูงกว่าราคาเหมาะสมที่เราประเมิน แนะนำรอราคาปรับลงมาจนมีส่วนลดจากราคาเหมาะสมที่เพียงพอก่อนกลับเข้าซื้อเพื่อลงทุน

สำหรับมุมมองในระยะยาวเรามีมุมมองเชิงบวกเนื่องจากในปี 66 บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกกว่า 50% จากเดิม 8 แสนตร.ม.ซึ่งจะรองรับการเติบโต และแผนการขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้ารับจ้างผลิตตามสั่ง B2B มากขึ้น รวมถึงในระยะ 2-3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น จึงแนะนำเข้าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะยาวได้ หากราคาปรับตัวลงมาที่ราคาเหมาะสมที่เราประเมินที่ 1.68 บาท

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top