การประชุมสภาผุ้แทนราษฎรที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นผู้เสนอ
นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกล ขอยืนยันว่าการแก้ไขรายมาตราอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่จำเป็นต้องมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีปัญหาขาดความชอบธรรมทั้งเรื่องที่มา กระบวนการ และเนื้อหา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการท้วงติงว่าการจัดทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ก่อนและหลังยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยหลังยกร่างรัฐธรรมนูญหลายฝ่ายไม่ได้ทักท้วง แต่ที่มีข้อถกเถียงกัน คือ ก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง
นายพริษฐ์ กล่าวว่า การมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อเพิ่มเรื่องนี้เข้าไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(8) กำหนดไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องจัดทำประชามติ 1 ครั้งเสียก่อน ซึ่งตรงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีบางฝ่ายตีความว่าจะต้องทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560
“ดังนั้น จึงกลายเป็นข้อถกเถียงว่า ก่อนที่จะมี ส.ส.ร.นั้น จะต้องทำประชามติ 1 หรือ 2 ครั้ง ซึ่งในทางการเมือง พรรคก้าวไกลยอมได้ หากจะมีการทำประชามติอีก 1 ครั้ง รวมเป็น 2 ครั้งก่อนที่จะมี ส.ส.ร.” โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุ
พร้อมย้ำว่า ส.ส.ร. จะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ส่วนข้อกังวลที่ห่วงว่าจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เห็นว่า ส.ส.ร.สามารถเปิดให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำ ให้คำปรึกษาได้ ขณะที่ข้อกังวลว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ และการปกครองนั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ห้ามไว้ว่าการกระทำนั้นไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน
“คำถามที่เรานำเสนอเพื่อใช้สำหรับถามในการทำประชามตินั้น เป็นคำถามที่ทุกพรรคการเมืองเมื่อสภาฯ ชุดที่แล้วนำเสนอไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่คำถามใหม่ เพราะเคยเสนอโดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม จากพรรคก้าวไกล และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 65 และยิ่งกว่านั้น ญัตติคราวที่แล้วเดือน พ.ย.65 ได้รับมติเอกฉันท์ท่วมท้นจากทุกพรรคการเมืองหลัก ดังนั้น สส.ทุกคนที่เคยให้ความเห็นชอบ ผมเชื่อว่าเวลาผ่านไปยังไม่ถึง 1 ปี คงไม่มีเหตุผลที่จะทำให้ สส.เปลี่ยนจุดยืน แต่หากจะเปลี่ยนจุดยืน ผมหวังว่า สส.เหล่านั้นจะรับผิดชอบอภิปรายต่อสภาฯ ว่าทำไมจุดยืนถึงเปลี่ยนแปลงไป” นายพริษฐ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ต.ค. 66)
Tags: การเมือง, ก้าวไกล, ประชามติ, พริษฐ์ วัชรสินธุ, ร่างรัฐธรรมนูญ, สภาผู้แทนราษฎร