บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เข้าลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาตามบริษัทแม่ คือ บมจ.บ้านปู (BANPU) ที่รัฐเท็กซัส ด้วยการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐ และต่อมาได้เข้าสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี ทำให้ BPP กลายเป็นผู้ขายไฟฟ้าให้กับรายย่อยแล้วในเท็กซัส ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 2 หมื่นครอบครัว ทำให้เกิดไอเดียการซื้อขายไฟฟ้าที่จะรุกตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีในสหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย เพราะในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี มีอัพไซด์ตามดีมานด์ซัพพลาย ทำให้โอกาสการเติบโตของ BPP จากนี้ไปน่าจับตาดู หลังจากเข้าซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II เข้ามา และกำลังจะเข้าซื้ออีก 1 แห่งในสหรัฐไม่เกินต้นปีหน้าเช่นกัน
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า การเติบโตของบริษัทฯ จะสอดคล้องไปกับกลุ่มบ้านปู ที่มุ่งเน้นในเรื่องของ Greener & Smarter โดยมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตรวมเป็น 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 68 ผ่านกลยุทธ์การดำเนินงานที่เรียกว่า “3E” ได้แก่
- Ecosystem มุ่งสร้างเมกะวัตต์คุณภาพด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อน (Thermal Power Business) พลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) และเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology)
- Excellence รักษาเสถียรภาพการผลิตควบคู่ไปกับประสิทธิภาพความพร้อมจ่ายไฟ (EAF) และเน้นการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มโอกาสทำกำไรในตลาดที่มีการเติบโตและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง
- ESG ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ
ทั้งนี้ด้วยเทรนด์ของ 3D ที่ประกอบไปด้วย Digitalization, Decentralization, Decarbonization สิ่งที่เกิดกับตลาดไฟฟ้าทั่วโลกทำให้มีพัฒนาการจากมีผู้ซื้อรายเดียว หรือภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด ไปสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี (Merchant Market) ก็ทำให้บริษัทฯ มองเห็นโอกาสขยายการลงทุนผ่านการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐ และล่าสุดเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้าซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในสหรัฐ ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ แล้ว 1,500 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE)
และได้เริ่มเข้าไปทำธุรกิจการซื้อขายไฟฟ้า, Electricity trading รวมถึง Retail ซึ่งปัจจุบันกลุ่มบ้านปู ก็ได้มีการขายไฟฟ้าให้กับรายย่อยแล้วในเท็กซัส
“ถ้าเป็นโมเดลสมัยก่อนตอนตั้งบ้านปู พาวเวอร์ เราก็คงเน้นการเติบโตในที่ที่มีสัมปทานกับภาครัฐ เนื่องจากรัฐรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด และเน้นการเดินเครื่องให้มีความเสถียร ซึ่งเราก็ยังมีโรงไฟฟ้านี้อยู่ในพอร์ต” นายกิรณ กล่าว
มองไปข้างหน้า การเติบโตของ BPP จะอยู่ในประเทศสหรัฐ, ออสเตรเลีย เนื่องจากยังมีอัพไซด์ และสามารถเพิ่มการทำกำไรจากการเป็นตลาดไฟฟ้าเสรี ขณะที่ยังเปิดโอกาสการเติบโตในอีก 7 ประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินงานอยู่ด้วย รวมถึงมองโอกาสในประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยคำนึงถึงปัจจัย 1. นโยบายภาครัฐเอื้อต่อการทำโรงไฟฟ้าประเภทนั้นๆ และ BPP มีความเชี่ยวชาญ หรือไม่ 2. มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงหรือไม่
สำหรับงบลงทุน BPP จะวางไว้ที่ 400-500 ล้านเหรียญฯ ต่อปี โดยจะมาจากเงินทุนหมุนเวียน และการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ในสัดส่วน 50:50 หรือกู้ 100%
*เล็งปิดดีลโรงไฟฟ้าก๊าซฯ-รีนิวเอเบิล ในสหรัฐเพิ่มไม่เกินต้นปีหน้า
นายกิรณ กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงโฟกัสการสร้างผลการดำเนินงานของ Temple II และการเพิ่มโอกาสในการทำกำไรในตลาดไฟฟ้าเสรี นอกจากนี้ยังมองโอกาสเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐเพิ่มเติม กำลังการผลิตราว 700-800 เมกะวัตต์ต่อโรง เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง โดยปัจจุบันได้เริ่มทำ Due diligence แล้ว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า รวมถึงยังมองโอกาสลงทุนในโรงไฟฟ้ารีนิวเอเบิล และแบตเตอรี่ฟาร์มในสหรัฐด้วย
ส่วนในประเทศ มองเทรนด์ตลาดไฟฟ้าเสรี มีการเจรจาพูดคุยกันมาแล้วหลายปี โดยปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานสามารถทำได้ และมีความเป็นไปได้ ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐก็อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อดีข้อเสีย
“กลุ่มบ้านปูทั้งหมดถือว่ามีความพร้อมอย่างมาก หากวันหนึ่งภาครัฐไทย มีกฎหมายอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าเสรีขึ้นมา เนื่องจากประสบการณ์ของบ้านปู พาวเวอร์ และบ้านปูเน็กซ์ ที่ทำธุรกิจอยู่ในญี่ปุ่น ที่เราทำธุรกิจซื้อขายไฟฟ้ามานาน 5 ปี รวมถึงในสหรัฐ ออสเตรเลีย เรามีความรู้ ความสามารถ และ Infrastructure ที่พร้อม”
ด้านผลการดำเนินงานปีนี้ บริษัทฯ คาดจะเติบโตดีกว่าปีก่อน เนื่องจากได้มีการเข้าควบรวม (M&A) โรงไฟฟ้า Temple II ในสหรัฐ กำลังการผลิต 760 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันที ขณะที่นโยบายภาครัฐที่มีการลดค่าไฟฟ้า ยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน เนื่องจากโรงไฟฟ้า BLCP และ HPC เป็น 2 ใน 3 ของโรงไฟฟ้าที่เป็น Base load power generation ของประเทศไทยในปี 65 และมีราคาค่าไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และราคาถูกมาก ซึ่งสามารถช่วยถัวเฉลี่ยค่าไฟฟ้าของประเทศไทยลงได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 66)
Tags: BANPU, BPP, INTERVIEW, SCOOP, กิรณ ลิมปพยอม, บ้านปู, บ้านปู พาวเวอร์, หุ้นไทย