KBANK เผยกำไร Q3/66 โตต่อเนื่อง รับผลรายได้ดอกเบี้ยเพิ่ม มองศก.ไทยยังโตได้ท่ามกลางความผันผวน

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 66 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 65 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 33,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.35% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 81,298 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงดำเนินการตามหลักความระมัดระวังรอบคอบอย่างสม่ำเสมอ ในการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งควบคู่ไปกับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง คำนึงถึงสัญญาณการชะลอตัว และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆที่ยังส่งผลให้การขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในกรอบจำกัดตามที่กล่าวข้างต้น จึงพิจารณาตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 31.35% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบสำรองฯ ในไตรมาส 3 กับไตรมาสก่อนๆ สำรองฯ ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งสอดคล้องกับที่ธนาคารได้ประมาณการไว้ก่อนหน้า นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 13.16% สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอัตราปกติในอัตรา 0.46% และจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้น ขณะที่ธนาคารยังมีการดูแลลูกค้าเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการดำเนินการเชิงรุกในการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวไม่เท่ากันผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร สำหรับอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.62% นอกจากนี้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 19.09% หลัก ๆ จากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนที่เพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด และรายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้น 12.57% สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณธุรกิจ และส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.65% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3/66 เปรียบเทียบกับไตรมาส 2/66 กำไรสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อยมีจำนวน 11,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.62% จากไตรมาส 2 ปี 2566 สำหรับกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 27,294 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยรายได้จากการดำเนินงานลดลงหลัก ๆ จากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนที่ลดลงตามภาวะตลาด ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและค่าใช้จ่ายทางการตลาด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ 42.07% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 43.37%

โดย ณ วันที่ 30 ก.ย. 66 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,266,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 จำนวน 19,635 ล้านบาท หรือ 0.46% หลัก ๆ เกิดจากรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิเพิ่มขึ้น ในขณะที่เงินให้สินเชื่อสุทธิลดลงจากการพิจารณาปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง และการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.11% และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 154.90% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 ก.ย. 66 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.62% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.65%

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/66 ขยายตัวในกรอบจำกัด เนื่องจากภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสัญญาณเปราะบางของเศรษฐกิจจีน ขณะที่การใช้จ่ายของภาคเอกชน ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนมีทิศทางชะลอลง หลังจากที่เร่งตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 66 แม้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่แรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐในปีนี้น่าจะมีจำกัด ประกอบกับยังต้องติดตามผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร รวมถึงผลกระทบจากระดับหนี้ครัวเรือนและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงที่อาจกดดันทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศ นอกจากนี้ยังต้องติดตามความตึงเครียดในอิสราเอลอย่างใกล้ชิด เพราะหากสถานการณ์ยืดเยื้อหรือขยายวงกว้างออกไป ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวนในกรอบสูงเป็นเวลานาน ซึ่งก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และทำให้ตลาดการเงินรวมถึงค่าเงินบาทมีความผันผวนตามไปด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top