กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยความพร้อมขับเคลื่อนนโยบาย ยกระดับ 30 บาทพลัส ใน 2 เรื่องเด่น เห็นผลใน 100 วันแรก “ฉีดวัคซีน HPV 1 ล้านโดส” ในเดือนพ.ย. และ “Safety Phuket Island Sandbox” สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ปลอดโรคให้กับนักท่องเที่ยวด้วยมาตรการเข้ม และการผลักดันให้เกิดศูนย์สุขภาพนักท่องเที่ยว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการดำเนินภารกิจของกรมควบคุมโรค โดยระบุว่า กรมควบคุมโรค มีระบบป้องกันและควบคุมโรคที่มีศักยภาพในการรับมือ ทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ รวมทั้งโรคจากภัยธรรมชาติ มีการนำดิจิทัลเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ทั้งนี้ เชื่อมั่นได้ว่าสามารถขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการยกระดับ 30 บาท ที่มีการกำหนด Quick Win ให้เห็นผลได้ใน 100 วันแรก โดยเฉพาะมะเร็งครบวงจร ครอบคลุมมะเร็งสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่
1. มะเร็งปากมดลูก โดยเตรียมพร้อมฉีดวัคซีน HPV ให้นักเรียน/นักศึกษาหญิงทั่วประเทศ (อายุ 11-20 ปี) ในวันที่ 8 พ.ย. 66 นี้ และจะกระจายวัคซีนสู่พื้นที่ทั่วประเทศ รวม 1.43 ล้านโดส เสร็จสิ้นภายในเดือนม.ค. 67 ซึ่งมะเร็งปากมดลูก พบในหญิงไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากถึง 90% จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกใน 10-20 ปีข้างหน้าได้
2. มะเร็งท่อน้ำดี โดยการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงด้วยวิธี Urine Rapid Test และคัดกรองมะเร็งตับ และท่อน้ำดี ด้วยอัลตราซาวด์
3. มะเร็งตับ โดยการคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี และซี พร้อมให้การรักษาผู้ที่ผลการคัดกรองเป็นบวก
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สำหรับ Quick Win ด้านความปลอดภัยนักท่องเที่ยว คือ “Safety Phuket Island Sandbox” ได้เตรียมประกาศเป้าหมายจังหวัดภูเก็ต ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า, ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับผู้ให้บริการนักท่องเที่ยว, คัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศ, มีระบบ Digital Surveillance และผลักดันให้มีศูนย์สุขภาพนักท่องเที่ยว รวมทั้งบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ร่วมขับเคลื่อนระบบส่งต่อทางอากาศ อาสาฉุกเฉินทางทะเล/ อาสาฉุกเฉินชุมชน และถนนอาหารปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายผลในจังหวัดนำร่องของทุกเขตสุขภาพ ได้แก่ น่าน, สุโขทัย, กำแพงเพชร, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, ระยอง, กาฬสินธุ์, อุดรธานี, นครราชสีมา, อุบลราชธานี, ตรัง และกรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินตาม 4 มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย 1. การคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศ 2. ระบบ Digital Surveillance 3. ระบบส่งต่อทางอากาศ และ 4. ถนนอาหารปลอดภัย ซึ่งจะสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ปลอดโรค ให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
“สิ่งสำคัญที่ได้ย้ำให้กรมควบคุมโรคเร่งรัดการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่สำคัญใน 2 เรื่อง คือ การควบคุมวัณโรคให้น้อยกว่า 10 ต่อประชากรแสนคน และการลดอัตราการตายจากการจราจรลง 50% จากปี 54 ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมวันนี้ เชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพของกรมควบคุมโรคที่มีอยู่ จะสามารถดำเนินการทั้ง 2 เรื่องได้สำเร็จอย่างแน่นอน” นพ.ชลน่าน กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 66)
Tags: HPV, ชลน่าน ศรีแก้ว, วัคซีน, วัคซีน HPV, วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก