สว.เฉลิมชัย ชี้ช่องยื่น ป.ป.ช. เอาผิดกกต.ปล่อยรัฐแจกเงินดิจิทัล ส่อขัดรธน.

นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวอภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภาถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาทว่า เรื่องดังกล่าวมีผู้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว แต่ได้รับคำตอบว่าไม่ผิด เนื่องจากเป็นเงินงบประมาณของรัฐ ไม่ใช่เงินส่วนตัว ซึ่งการที่ กกต.ตอบแบบนี้ เป็นการติดกระดุมเม็ดแรกผิดพลาดอย่างมหันต์ เนื่องจาก กกต. ไม่ได้นำกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา

“ปัจจุบัน ไทยมีหนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือนสูง จึงไม่รู้ว่า กกต.ใช้หลักเกณฑ์ใดมาตัดสิน ว่าหากนำงบประมาณของรัฐแจกแล้วไม่มีความผิด และก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะนำงบประมาณมาจากไหน จึงเห็นว่าน่าจะไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่ากกต. จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญมาตรา 234 และมาตรา 235 ได้” นายเฉลิมชัย กล่าว

นายเฉลิมชัย ยังระบุว่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ยังมีข้อสงสัยมากมายว่าจะนำเงินงบประมาณ 5.6 แสนล้านบาทมาจากไหน เหตุใดจึงไม่จ่ายเป็นเงินสดเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแลกเหรียญดิจิทัลกลับไปกลับมา 6% อีก 33,600 ล้านบาท ค่าจ้างทำโปรแกรมบล็อกเชนอีกกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท กรณีดังกล่าวหากเกิดเงินเฟ้อ สินค้าแพงขึ้น หนี้สาธารณะจะเพิ่มอีกเท่าใด ความเป็นไปได้ของเงินที่จะลงไปหมุนในระบบเศรษฐกิจถึง 3 รอบ และได้ถามความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาลแล้วหรือไม่

“การที่นายกฯ เดินทางไป จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา แล้วปลุกระดมให้ชาวพิษณุโลกคัดค้านคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเงินดิจิทัล ถือเป็นการพูดให้ประชาชนขัดแย้ง แตกแยกกันเองหรือไม่ เหตุใดพรรคเพื่อไทยไม่คิดวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยงให้รอบคอบ รอบด้าน ก่อนจะออกมาเป็นนโยบายหาเสียง เพื่อให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ” นายเฉลิมชัย กล่าว

แกนนำพรรคเพื่อไทยทำผิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ตั้งแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพราะไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่าย ปัจจุบันก็ยังไม่มีการชี้แจง สุ่มเสี่ยงขัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และครม.ต้องไม่บริหารโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง และก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน

“กกต. ต้องกำหนดกลไกความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบายที่ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบของความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัล เป็นการสัญญาว่าจะให้อย่างเห็นได้ชัด เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า แต่ กกต.กลับตีความว่าไม่ผิด จึงหวังว่า กกต.คงไม่ปล่อยนโยบายแบบนี้ออกมาอีก ในการเลือกตั้งอีก 4 ปีข้างหน้า แต่ผมไม่ได้ไม่ให้ทำ ท่านจะทำก็ทำไป แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม” นายเฉลิมชัย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top