ม.หอการค้าฯ จับชีพจรส่งออกไทยปี 67 สัญญาณฟื้นพลิกโต 3.6% จากปีนี้ -2%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินแนวโน้มการส่งออกไทย ปี 67 โดยคาดว่าจะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 3.6% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีมากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายผลักดันการส่งออกสินค้าจากหน่วยงานภาครัฐของไทย จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการส่งออกในตลาดต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จาก Soft Power เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าส่งออกของไทย, การแก้ปัญหา-อุปสรรคการค้าชายแดน, การผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้า (FTA) มากขึ้น เป็นต้น

“การส่งออกของไทยมีสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/66 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ไม่หวือหวา โดยจะค่อยๆ ฟื้นตัว และชัดเจนขึ้นในกลางปี 67 และเชื่อว่าการส่งออกจะเป็นพระรองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้า ส่วนพระเอกน่าจะเป็นเงินดิจิทัล โดย ม.หอการค้าไทย คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4.5-5%” นายธนวรรธน์ ระบุ

อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในปี 67 ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้า จะชะลอตัวลงจากปี 66 โดย IMF คาดว่าเศรษฐโลกปีหน้าจะเติบโตได้ 2.9% จากปีนี้ที่ 3% ส่วน OECD คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะเติบโตได้ 2.7% จากปีนี้ที่ 3% โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงชะลอตัวจากปัญหาดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และอัตราการว่างงานที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจีน ยังถูกกดดันจากวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคที่อ่อนแอ และภาคเอกชนยังไม่มั่นใจในการลงทุน

ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงจากเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ภายในปี 67 รวมทั้งรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลให้เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้า, ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิต และราคาสินค้า

  • เชื่อสงครามอิสราเอลกระทบส่งออกไทยไม่มาก

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า อีกปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อ แต่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยน้อยลง และไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น, ความขัดแย้งในทุกมิติระหว่างสหรัฐฯ – จีน ทั้งสงครามการค้า การแข่งขันด้านเทคโนโลยี และการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน

รวมทั้งล่าสุด สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังอิสราเอลไม่มากนัก ที่ -0.1 ถึง -1.7% โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ได้ประเมินผลกระทบที่จะมีต่อการส่งออกในภาพรวมของไทย จากสงครามอิสราเอลไว้ 3 กรณี ดังนี้

– กรณีสงครามยืดเยื้อ (โอกาสเกิด 30%) ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก 370 ล้านดอลลาร์ ส่งออก หดตัว 0.1%

– กรณีสงครามยืดเยื้อจนปิดเส้นทางขนส่ง (โอกาสเกิด 10%) ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก 850 ล้านดอลลาร์ ส่งออก หดตัว 0.3%

– กรณีสงครามขยายวงกว้างทั่วตะวันออกกลาง (โอกาสเกิดน้อยกว่า 5%) ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก 4,770 ล้านดอลลาร์ ส่งออก หดตัว 1.7%

  • ส่งออกไทย Q4/66 คาดโต 6.8% บาทอ่อนหนุน-ฐานปีก่อนต่ำ

นายพูนทวี ชัยวิจิตมลากูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาส 4/66 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่า การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ จะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ 6.8% คิดเป็นมูลค่าราว 70,500 ล้านดอลลาร์ จากไตรมาส 3/66 ที่คาดว่าจะหดตัว 3.2% ขณะที่การส่งออกไทยทั้งปี 66 คาดว่าจะยังหดตัว 2% ที่มูลค่าประมาณ 281,500 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะส่งผลให้การส่งออกไทยไตรมาส 4 ปีนี้ ขยายตัวได้ มาจาก 1.ฐานการส่งออกที่ต่ำของไตรมาส 4 ปี 65 2.แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า 3.เงินเฟ้อชะลอตัว 4.สินค้าเกษตรและอาหารส่งออกได้มากขึ้น จากประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหาร 5.นโยบายผลักดันการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยสินค้าส่งออกเด่นของไตรมาส 4/66 ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ, อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์, ผลไม้, ข้าว เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า, อัตราดอกเบี้ยในประเทศคู่ค้ายังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อการบริโภค การลงทุนทางธุรกิจที่ชะลอตัว ทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 4 จากการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค และความกังวลภาวะสงครามในอิสราเอล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าช่วงไตรมาส 4 ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในช่วง 88-93 ดอลลาร์/บาร์เรล นอกจากนี้ ยังเผชิญปัญหาเอลนีโญ ที่มีผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรของไทย ที่อาจจะลดลงราว 2.2-6.5%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ต.ค. 66)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top