ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (16-20 ต.ค.) ที่ระดับ 35.70-36.30 บาท/ดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย สถานการณ์ในอิสราเอล และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนต.ค. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. รายงาน Beige Book และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซน การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน และตัวเลขเศรษฐกิจจีน อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ตลอดจนยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนก.ย. ด้วยเช่นกัน
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-12 ต.ค.) เงินบาทพลิกแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 36.09 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ เช่นเดียวกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังมีสัญญาณตึงเครียดในอิสราเอล อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า โดยได้รับอานิสงส์จากการพุ่งขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยอ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่เฟดบางท่านออกมาให้ความเห็นว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในช่วงที่ผ่านมา อาจลดความจำเป็นของการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด นอกจากนี้ บันทึกการประชุมเฟดเมื่อ 19-20 ก.ย. ยังสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ต.ค.66 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.17 บาท/ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 37.02 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 ต.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 9-12 ต.ค.นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,854 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 16,287 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 17,307 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,020 ล้านบาท)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ต.ค. 66)
Tags: KBANK, ค่าเงินบาท, ธนาคารกสิกรไทย, เงินบาท