ไทย-ตุรกี เตรียมฟื้นเจรจา FTA อีกครั้ง คาดเริ่มเห็นความชัดเจนในปี 67

นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวภายหลังหารือกับนางแซรัป แอร์ซอย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย ว่า ไทยและตุรกีเห็นพ้องกันที่จะผลักดันความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันให้ก้าวหน้า เนื่องจากที่ผ่านมามีการเจรจากันแล้วถึง 7 รอบ แต่ต้องหยุดชะงักลงเมื่อปี 2564 จากเหตุปัจจัยภายในประเทศของตุรกี โดยไทยพร้อมและยินดีจะกลับเข้าสู่การเจรจาทันทีเมื่อตุรกีเสร็จสิ้นกระบวนการทบทวนนโยบาย

เอกอัครราชทูตตุรกี ยืนยันว่า แนวทางการพิจารณาของตุรกี น่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ในช่วงต้นปี 2567 ทั้งนี้ หากการจัดทำ FTA ร่วมกันสำเร็จ ทั้ง 2 ประเทศก็จะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะการลดช่องว่างดุลการค้า และด้านอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม โดยในปีนี้ไทยและตุรกี มีความสัมพันธ์ครบรอบ 65 ปีอีกด้วย

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ตุรกีเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก โดยไทยสามารถใช้ตุรกีเป็นสะพานเชื่อมต่อทางการค้าไปสู่ยุโรปตะวันออก กลุ่มประเทศบอลข่าน และแอฟริกาตอนเหนือได้ และสินค้าไทยที่จะได้รับประโยชน์จาก FTA เช่น ยานพาหนะ ตู้เย็น พลาสติกชนิดโพลิสไตลีน ผ้าทอ เมล็ดพืช อาหารฮาลาล ผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

ขณะที่ตุรกีสามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่เอเชียตะวันออก อาเซียน และประเทศอื่นที่มีความตกลงการค้าเสรีกับอาเซียน โดยเฉพาะประเทศสมาชิก RCEP รวมทั้งการลงทุนใน EEC นอกจากนี้ ตุรกียังสนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน โดยตุรกีมีความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน

สำหรับบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในตุรกี เช่น CPF, Indorama และ Dusit Thani ส่วนบริษัทตุรกีที่ลงทุนในไทย เช่น KOC Holding, HIDROMEX, Sabanci Holding เป็นต้น และทั้ง 2 ประเทศยังมีเที่ยวบินตรงระหว่างกัน ทั้ง Turkish Airlines และสายการบินไทยจำนวนหลายเที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยตุรกีเห็นว่าทั้ง 2 ประเทศ ยังร่วมกันพัฒนาด้านอื่นได้อีก ได้แก่ เศรษฐกิจสีเขียว ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการจัดตั้งโรงเรียนในประเทศไทย และอยากให้ไทยพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขการนำเข้าผลไม้จากตุรกีด้วย

“ท่านทูตตุรกีย้ำว่า ไทยไม่ได้เยือนตุรกีในระดับผู้นำเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว จึงอยากเชิญนายกรัฐมนตรี และผู้แทนการค้าไทยไปเยือนตุรกี และยังแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่ราชวงศ์ไทย รัฐบาล ภาคเอกชน NGO และประชาชนชาวไทย ให้ความช่วยเหลือตุรกีในเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อเดือน ก.พ.66 ที่ผ่านมาด้วย” นางนลินี กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top