นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. ) ถึงปัญหาผลประกอบรฟท.ที่ขาดทุน และมีหนี้สะสมจำนวนมากว่า แม้ธุรกิจของรฟท.จะไม่มีคู่แข่ง ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง แต่ขณะเดียวกันก็กลายเป็นจุดอ่อน ที่ทำให้การพัฒนาตัวเองช้า ซึ่งตนเห็นว่าการลดรายจ่ายทำได้ยากเพราะมีต้นทุนคนที่สูง แต่สามารถเพิ่มรายได้จากการขนส่งสินค้าและโดยสาร ซึ่งปัจจุบันรถไฟมีส่วนแบ่งการตลาดด้านการขนส่งสินค้าเพียง 3% จากปริมาณการขนส่งทั้งประเทศ และมีสัดส่วนด้านการโดยสารเพียง 2% เท่านั้น
โดยได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานของรฟท. ผลประกอบการหรืองบดุลในปี 2567 จะต้องไม่มีตัวแดง หรือ EBITDA ต้องไม่ติดลบ และงบดุลในปีต่อไป จะต้องเป็นบวก หรือมีกำไร โดยให้ปรับแผนงานหารายได้เพิ่มจากธุรกิจทางตรงคือการขนส่งสินค้า เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด จาก 3% ที่มีรายได้เพียง 2,000 ล้านบาท/ปี เป็น 30% ซึ่งรายได้จะเพิ่มเป็น 22,000 ล้านบาท/ปี
“เรื่องเพิ่มรายได้ ผมให้เป็นการบ้านรถไฟ ไปหาวิธีการทำอย่างไรเพื่อไปสู่เป้าหมาย ทั้งด้านสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งทุกวันนี้รฟท.ไม่มีฝ่ายการตลาด ไม่มีฝ่ายขายที่จะหาลูกค้าอย่างจริงจัง เป็นการให้ความสำคัญกับสายงานนี้มากขึ้น ดังนั้น ต้องไปดูว่าจะหามืออาชีพมาช่วย หรือจะเป็น outsources ก็ได้ ส่วนผมในฐานะรัฐมนตรี จะช่วยประสานกับหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ หรือ นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความต้องการในการขนส่งสินค้ามากๆ คือจะช่วยเป็นเซลล์แมนประสานติดต่ออีกทาง ซึ่งผมจะมาตรวจการบ้านรฟท.ทุกๆ 3 เดือน”
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ด้านผู้โดยสารนั้น รฟท. ไม่ได้ปรับค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 38 หรือ 28 ปี แล้ว ซึ่งจะแบ่งผู้โดยสารเป็น 2 ส่วน คือ ด้านบริการเชิงสังคมสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่รัฐต้องดูแลก็ให้แยกออกมา ส่วนบริการรถไฟเชิงพาณิชย์ ชั้น 2 และชั้น 3 ที่พร้อมจะซื้อตั๋วที่ราคาสูงขึ้นได้ จะทำให้สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ว่าฯรฟท.ต้องไปทำข้อมูลแยกออกมา ว่ามีปริมาณผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ และ ผู้โดยสารรถไฟท่องเที่ยว มีอย่างเพื่อกำหนดแผนได้ตรงกับ ความต้องการของตลาดผู้โดยสาร
- ดันทางคู่ หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เข้าครม.พ.ย.นี้
สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง และรถไฟทางคู่ระยะแรก มีความก้าวหน้าพอสมควร โดยจะเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ให้ได้ภายในปี 2566 เพื่อเดินหน้าก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผน
รฟท. จะเร่งเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ซึ่งตนได้ให้นโยบายปรับแผนเร่งรัดเส้นทาง ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,864.49 ล้านบาท จากเดิมที่จะก่อสร้างเสร็จปี 2572 ขึ้นมาดำเนินการก่อน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่จะสนับสนุนการค้าชายแดนให้มีความสะดวกมากขึ้น และนักธุรกิจและประชาชนในพื้นที่ร้องขอให้เร่งดำเนินการ
โดยให้รฟท.เร่งนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาในสัปดาห์หน้า เพื่อสรุปและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเดือนพ.ย. 66 เนื่องจากโครงการมีความพร้อม การออกแบบเสร็จแล้ว รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 61
ขณะที่รถไฟทางคู่ ระยะ 2 ที่พร้อมนำเสนอครม.ในวันที่ 16 ต.ค. 66 คือ เส้นทางช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กม. วงเงิน 62,859.74 ล้านบาท เป็นลำดับต่อไป ถือว่ามีความพร้อมเดินหน้าโดย รายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 65
ส่วนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางประกอบด้วย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท นายสุรพงษ์กล่าวว่า พร้อมผลักดันเสนอครม.ภายในปลายปีนี้ หรือในไตรมาส 1/67 เนื่องจากได้ศึกษาออกแบบเรียบร้อย และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับอนุมัติแล้วและเส้นทางที่มีความจำเป็นเพื่อรองรับปริมาณการเดินทางจำนวนมาก เนื่องจาก เป็นศูนย์ในด้าน โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 66)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, รฟท., สุรพงษ์ ปิยะโชติ