นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยกับผู้ป่วย ก็จะเป็นผู้ป่วยที่ยังไม่หายขาดจากอาการป่วย แต่อยู่ในช่วงกำลังจะลุกขึ้นมาได้ เนื่องจาก 4 ปัจจัย คือ
1.การเติบโตของเศรษฐกิจขาดความต่อเนื่องในช่วงวิกฤติโควิดที่ GDP ติดลบไปถึง 6.1% ในปี 63 แม้จะกลับมาโตได้ที่ 4% แต่ยังถือว่าปัจจุบันมีส่วนต่าง ( Output gap) เหลืออีกถึง 16% และอัตราเงินเฟ้อยังไม่แรงมาก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกไม่ได้เป็นเช่นนั้นช่วงโควิดปี 63 เศรษฐกิจโลก -3% แต่ปี 64 เด้งขึ้นมาอยู่ที่ 5.5% ถือว่าโตเร็วกว่าประเทศไทย ดังนั้น Output gap มีน้อยมาก จึงทำให้มีปัญหาเงินเฟ้อ
2. ช่วงที่ผ่านมาคนไทยมีหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่ภาวะปกติ โดยประเทศไทยถือมีหนี้สูงที่สุดในอันดับต้นๆ ของโลก
3. ก่อนหน้าช่วงโควิด ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยปีละ 3 หมื่นล้านเหรียญ (ปี 57-63) หรือคิดเป็น 1 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันไทยแทบไม่เกินดุลฯ ซึ่งการเกินดุลฯ สะท้อนถึงศักยภาพในการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศมีมากกว่านำเข้า
4. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้ ซึ่งสิ่งไม่เคยเห็นธนาคารกลางที่ใดในโลกทำ คือ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นเท่าตัวจาก 1.25% เป็น 2.50% ในช่วงที่เงินเฟ้อลงจาก 5% (เงินเฟ้อทั่วไปเดือนม.ค. อยู่ที่ 5.02% ส่วนเดือนก.ย. อยู่ที่ 0.30% ซึ่งดอกเบี้ยที่แท้จริงขึ้นประมาณ 2.2%) อย่างไรก็ดี การขึ้นดอกเบี้ยมาก และการเดินนโยบายตึงตัว ไม่ได้ส่งผลกระทบในทันที แต่กระทบในช่วง 6-9 เดือนให้หลัง หรือที่เรียกว่า Impact lag
ดังนั้น ถ้าหวังให้เศรษฐกิจปี 67 ดี ต้องมีปัจจัยอื่นๆ สนับสนุนอีกมาก เช่น นักท่องเที่ยวจีน แต่กลับมาเจอปัญหาที่คนจีนเสียชีวิตจากเหตุยิงที่พารากอน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง หรือประเด็นล่าสุดที่กลุ่มฮามาสโจมตีประเทศอิสราเอล ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งไทยอาจต้องเจอปัจจัยเสี่ยงเช่นนี้อีกในอนาคตได้ จึงไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจไทยพร้อมฟื้นตัวเต็มที่จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
“เศรษฐกิจไทยจะป่วยเรื้อรังหรือไม่นั้น ก็ดูท่าไม่ค่อยดี เพราะถ้าเศรษฐกิจไทยฟื้นแบบมีหนี้ เหมือนฟื้นแบบขายังกะเพลกหนึ่งข้าง ยังขาดดุลฯ ขณะที่ปัจจัยภายนอกยังเป็นปัญหา แล้วยังขึ้นดอกเบี้ยอีก ซึ่งดอกเบี้ยไทยตอนนี้ค่อนข้างสูง ถ้าเงินเฟ้อไม่ขึ้นอย่างที่ธปท. คาดการณ์ว่าปีหน้าเงินเฟ้อพื้นฐานจะขึ้น 2.5-2.6% ถ้าไม่ขึ้นตามนั้นดอกเบี้ยจริงจะสูง ซึ่งเห็นตัวอย่างจากสหรัฐฯ ว่าดอกเบี้ยขึ้นเยอะๆ แล้วอะไรเกิดขึ้น เพราะเขาตั้งใจจะกดเศรษฐกิจ แต่ถามว่าของไทยตอนนี้เป็นจังหวะที่จำเป็นต้องกดเศรษฐกิจหรือไม่ ก็ไม่แน่ใจ” นายศุภวุฒิ กล่าว
นายศุภวุฒิ มองว่า ขณะนี้ไม่ใช่จังหวะที่จะกดเศรษฐกิจ ส่วนจะเป็นจังหวะที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ต้องออกตัวว่าไม่ได้สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมาตั้งแต่ต้น แต่ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่าขณะนี้มีการค้านนโยบายดังกล่าวอย่างรุนแรง ทั้งอ้างว่าจะขาดวินัยทางการคลัง หรืออ้างว่าจะถูกดาวน์เกรดโดย Rating Agency รวมถึง สว.เริ่มออกมาต้านว่าอาจจะผิดรัฐธรรมนูญ
กระบวนการที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลที่เข้ามาอยู่ไม่ถึงเดือน ทำให้รัฐบาลสูญเสียความน่าเชื่อถือ แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐบาลจะสร้างความมั่นใจให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้อย่างไร และจะเป็นการตัดอนาคตประเทศด้วยหรือไม่ ซึ่งกังวลว่าถ้าเกิดความไม่มั่นใจในรัฐบาล เศรษฐกิจก็จะชะงักงันไปด้วย
ทั้งนี้ จากตัวเลขการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลในปีงบ 67 ที่ 693,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.63% ของ GDP ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 62.97% ในปีนี้ เป็น 64% ในปีหน้า มองว่าไม่ได้มากนัก ซึ่งอาจมีการรวมดิจิทัลวอลเล็ตไปแล้วส่วนหนึ่ง และอาจมีการเพิ่มหนี้อีกเล็กน้อย โดยปีนี้รัฐบาลประเมิน GDP ที่ 18.17 ล้านล้านบาท ปี 67 ที่ 19.08 ล้านล้านบาท ภายใต้คาดการณ์ GDP โตที่ 5% รวมเงินเฟ้อ
“ธปท. คาดการณ์ GDP ปี 67 โต 4% เงินเฟ้อ 2.4% รวมโต 6.8% ถ้านำมาคูณกับ 18.17 ล้านล้านบาท จะได้ GDP ปีหน้าที่ 19.41 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.3 แสนล้านบาท คำนวณกลับไปหนี้สาธารณะลดลงเหลือ 62.24% แล้วจะกลัวอะไร ในเมื่อปีนี้หนี้ 62.97% ถ้าการคาดการณ์ของธปท. ถูกต้อง ก็ไม่น่ากลัวขนาดนั้น การกระตุ้นของรัฐบาลกว่าจะออกมาคือเดือนก.พ.-มี.ค. ปกติไตรมาส 2/67 เป็นช่วงโลว์ซีซันท่องเที่ยว และถ้าจะมีปัญหาเอลนีโญขาดน้ำ ก็จะขาดในช่วงนั้น ซึ่งอาจจะออกมาพอดีก็ได้ ภาพมันหมิ่นเหม่กว่าที่จะฟันธงว่าถ้าทำนโยบายจะเกิดวิกฤติทางการคลังทันที มองว่ามันไม่เกิด ถ้าดูจากตัวเลขเอาอยู่” นายศุภวุฒิ กล่าว
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจถือว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่แข็งแรงดี ทั้งนี้ หากจะมีการถกเถียงเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขก็สามารถทำได้ แต่การที่โจมตีว่าจะทำให้เกิดวิกฤติทางการคลัง หรือดาวน์เกรดโดย Rating Agency มองว่าทำเกินไป ส่วนวงเงิน 5.6 แสนล้านบาทที่จะใช้สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมากเกินไปหรือไม่นั้น มองว่าในส่วนนี้สามารถพูดคุยหารือกันได้
“ขนาดของงบจะเท่าไร ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ถ้าเขาทำมากเกินไป เราไม่ชอบ เราก็มีสิทธิในการเลือกตั้งครั้งหน้าเราก็ไม่เลือกเขา ระบบประชาธิปไตยเป็นแบบนั้น ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้เลือกเขา แต่เขาก็ยังอยู่ อย่างไรก็ดี มีความกังวลว่า Downside Risk จะเกิดขึ้น เพราะ ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปในปีนี้ ถ้าการคาดการณ์ของ ธปท. จะผิด ก็ไม่ควรโทษตัวคูณทางการคลังจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต (Fiscal Multipliers) ต่ำเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ดี มองว่า Fiscal Multipliers จากนโยบายดังกล่าวจะไม่มาก อยู่ที่ประมาณ 1 เท่ากว่า แต่ประเด็นคือในสังคมพูดเกินไป ควรมูฟออน เนื่องจากยังมีนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลต้องดำเนินการต่อไปอีกในระยะยาว ทั้งการพลิกฟื้นการส่งออก การปรับโครงสร้างด้านสาธารณสุขรองรับผู้สูงอายุ รวมทั้งซอฟต์พาวเวอร์ เป็นต้น” นายศุภวุฒิ กล่าว
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจบ้างสามารถทำได้ โดยข้อดีของนโยบายการคลัง โดยหลักการถ้าคิดได้เร็วจะได้ผลทันที ไม่มี Impact lag ซึ่งต้องเตรียมตัวดูแลกรณีที่เกิด Downside Risk เศรษฐกิจโลก นโยบายการเงินขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่รู้ตัว แต่ Impact lag ยาวนาน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่น่ากังวล คือ ราคาน้ำมันโลก ซึ่งอาจอยู่ในระดับสูงอีกนานในสถานการณ์เช่นนี้ ดังนั้น การที่รัฐบาลอุดหนุนค่าน้ำมัน เป็นการหวังดีกับประชาชนในระยะสั้น แต่ในระยะยาวกังวลว่ารัฐบาลจะอุ้มไม่ไหว และไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยลดการใช้น้ำมันและพลังงานนำเข้า ทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก ดังนั้น หากทั้งโลกราคาพลังงานสูง ไทยก็ต้องรับรู้ราคาพลังงาน ไม่ใช่ประชาชนไม่รับรู้เพราะรัฐบาลนำเงินไปอุดหนุน
“ไทยนอกจากน้ำเข้าน้ำมันดิบแล้ว ยังนำเข้าแก๊สธรรมชาติเหลวด้วย ซึ่งราคาจะปรับเพิ่ม ส่วนหนึ่งเพราะยุโรปจะไม่ใช้แก๊สจากรัสเซีย ดังนั้น ไทยจะโดน 2 เด้ง ดังนั้น คนไทยอาจต้องยอมรับสภาพว่า รัฐบาลจะอุ้มราคาไฟฟ้าและน้ำมันได้อีกไม่นาน ไทยต้องปรับตัวให้สอดคล้องเศรษฐกิจโลก ซึ่งรัฐบาลต้องคิดดูในระยะยาวว่าจะปรับตัวอย่างไร อาจต้องมี Energy 3.0” นายศุภวุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ดี การขึ้นดอกเบี้ยของไทย อีกหนึ่งปัจจัยมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงดอกเบี้ยอีกเป็นเวลานาน ความเสี่ยง คือ ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐฯ อาจขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลว่า ทั่วโลกขาดแคลนพลังงานและแรงงาน ทำให้ดอกเบี้ยอาจสูงขึ้น เพราะเงินเฟ้อสูงเป็นเวลานาน สหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณกว่า 6% และจะขาดดุลต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีหนี้มหาศาล และ การใช้มาตรการ QT แทน QE เฟดต้องขายทิ้งพันธบัตรที่ถืออยู่ คนมาซื้อน้อยลงจึงมีความเสี่ยงที่ยีลด์จะขึ้นอีก ขณะทีประเทศอื่นๆ เช่น ไทย จีน ก่อนหน้านี้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากๆ จึงมีเงินเหลือไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ แต่ขณะนี้ไม่มีแล้ว
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า สำหรับสงครามระหว่างประเทศอิสราเอล และฮามาส มองว่าเป็นเรื่องที่แก้ยาก และเป็นปัญหาที่แก้มาแล้วหลายพันปี เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างยิวและปาเลสไตน์ขัดแย้งมาตลอด แต่ครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยน เนื่องจากคนอิสราเอลถูกฆ่าตายไปกว่า 1,000 คน ดังนั้น ตอนนี้คนอิสราเอลมีความแค้นมาก และรัฐบาลก็ไม่ได้เตรียมการรองรับความเสี่ยงในส่วนนี้เลย โดยนายกฯ อิสราเอลเลยประกาศสงครามล้มล้างฮามาส ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีคนตายอีกมาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 66)
Tags: GDP, ราคาน้ำมัน, ศุภวุฒิ สายเชื้อ, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย