นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่ 4/2566 ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ซึ่งบางพื้นที่ปรับลดลง และบางพื้นที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยจะขยายระยะเวลาออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 16 ต.ค. นี้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เกือบ 1 เดือน ที่ได้รับมอบหมายจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้พิจารณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รวมถึงได้รับข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งจากสถิติ เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในปี 50 เกือบ 1,600 กว่าครั้ง มาจนถึงปี 66 ประมาณ 100 กว่าครั้ง
สำหรับอำเภอที่จะปรับลดจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง คือ อ.กรงปีนัง จ.ยะลา อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส
ส่วนอำเภอที่จะปรับเพิ่มจากการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาเป็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เนื่องจากในช่วงปี 48-61 มีสถิติการก่อเหตุ 31 ครั้ง แต่ช่วง 5 ปีหลัง มีการก่อเหตุเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ ก่อนเข้าประชุม ได้มีการหารือกับสส. บางส่วน มีความเห็นว่า ไม่ได้ติดใจเรื่องการเพิ่มหรือลดพื้นที่ที่จะประกาศใช้กฎหมาย แต่ได้ฝากให้พิจารณาเรื่องความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำในการปฏิบัติงาน โดยต้องดำเนินการให้ชัดเจน เช่น ด่านตรวจทหาร ด่านมหาดไทย หากไม่ได้ใช้แล้ว ใช้น้อย หรือด่านที่ไม่มีผลงาน ขอให้ยกเลิกไป เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์ต่อนักการท่องเที่ยวที่อาจจะเข้าใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ
ส่วนการแต่งตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คนใหม่ นั้น นายสมศักดิ์ ระบุว่า ยังไม่ทราบขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี อีกทั้งตนไม่ได้กำกับดูแล สมช.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 66)
Tags: กบฉ., ครม., ชายแดนใต้, พ.ร.ก., สมศักดิ์ เทพสุทิน