ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มขึ้น ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือเรื่องต่างๆ น.ส.ชนก จันทาทอง สส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ได้หารือถึงปัญหาแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอล ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน จะพบว่าแรงงานไทยที่ไปทำงานในอิสราเอลมีมากถึง 25,000 คน โดยในจำนวนนี้ เป็นแรงงานจากภาคอีสานถึง 19,000 คน
น.ส.ชนก กล่าวว่า คนไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลเป็นคนยากจน ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อส่งตัวเองไปทำงานในประเทศกลุ่มเสี่ยง เพื่อหารายได้กลับมาส่งเสียครอบครัวที่เมืองไทย ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.ช่วยสื่อสารเป็นระยะๆ ถึงมาตรการการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล
2.การให้ความช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลต่อแรงงานไทยที่เสียชีวิต รวมถึงแรงงานที่ต้องตกงาน และอพยพกลับมายังประเทศไทย เพื่อเป็นการปลอบขวัญครอบครัว และลดความกังวลของแรงงานไทยในอิสราเอล
ด้าน นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทย รักษาความเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีความสลับซับซ้อน มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน พร้อมเรียกร้องให้ไทยเร่งช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับกุมตัว และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ปะทะอย่างเร่งด่วน และขอให้สันติภาพความสงบสุขคืนสู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต่อไป
ด้าน นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ชัยศิริ สส.อุดรธานี พรรคก้าวไกล กล่าวว่า อุดรธานีเป็นจังหวัดที่ส่งแรงงานออกไปเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ มีแรงงานอุดรธานีที่ยังตกค้างอยู่ที่อิสราเอลกว่า 4,000 คน ซึ่งเป็นแรงงานที่ไปตามระบบและถูกต้องตามกฎหมาย จึงคาดหวังว่า ภาครัฐและภาคเอกชนที่ส่งแรงงานออกไป จะมีความรับผิดชอบดูแลให้ชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัย
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สส. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากญาติผู้ใกล้ชิดผู้ประสบเหตุว่ายังไม่มีหน่วยงานไหน หรือองค์การใดยื่นมือเข้าไปช่วยอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทจัดหางาน ถ้าสามารถส่งคนเหล่านี้ไปทำงานได้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นก็ต้องสามารถนำกลับมาได้ ถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ควรถูกถอดใบอนุญาตผู้ประกอบการดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 66)
Tags: ประชุมสภาผู้แทนราษฎร, รัฐบาล, อิสราเอล, แรงงานไทย