รุ่งอรุณของวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนในอิสราเอลควรจะใช้ชีวิตท่ามกลางความสงบสุขเหมือนกับทุกปี เนื่องจากเพิ่งจะผ่านพ้นเทศกาลสำคัญที่ต่อเนื่องกันของชาวยิว ตั้งแต่เทศกาลรอช ฮาชานาห์ (Rosh Hashanah) หรือเทศกาลปีใหม่, เทศกาลยม เทรัวห์ (Yom Teruah) หรือเทศกาลเสียงแตร ต่อด้วยเทศกาลยม คิปปูร์ (Yom Kippur) หรือวันลบมลทินบาป ไปจนถึงเทศกาลสุคคต (Sukkot) หรือเทศกาลอยู่เพิง ที่เพิ่งจะสิ้นสุดลงในวันศุกร์ที่ 6 ต.ค. และจากนั้นในวันเสาร์ที่ 7 ต.ค.จะเข้าสู่เทศกาลซิมหัต โทราห์ (Simhat Torah) ซึ่งเป็นเทศกาลที่ชาวยิวจะเริ่มต้นอ่านพระคัมภีร์โทราห์รอบใหม่ โดยเทศกาลเหล่านี้ถือเป็นธรรมเนียมที่ชาวยิวปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัด เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระเจ้าเมื่อครั้งที่พวกเขารอนแรมอยู่ในถิ่นทุรกันดาร
แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นตอนรุ่งสางของวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. เมื่อกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัว ภายใต้ปฏิบัติการที่ชื่อว่า “อัล-อักซอ ฟลัด” (Al-Aqsa Flood) โดยเป็นการโจมตีพร้อมกันหลายจุดและหลายยุทธวิธี ตั้งแต่การระดมยิงจรวดกว่า 5 พันลูกจากฉนวนกาซาเข้าใส่นครเยรูซาเลมและเมืองอื่น ๆ ของอิสราเอลแบบไม่ยั้ง ส่งกองกำลังติดอาวุธจำนวนมากแทรกซึมเข้าไปโจมตีในหลายเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล เช่นเมืองคิบบุตซ์ เบรี และเมืองคูเซฟี พร้อมกวาดต้อนประชาชนนับร้อยคนไปเป็นตัวประกัน นอกจากนี้ ฮามาสยังใช้วิธีจู่โจมแบบกองโจร เช่นการให้นักรบติดร่มชูชีพร่อนลงมายังพื้นที่ต่าง ๆ และโจมตีผู้คนบนภาคพื้นดิน และนักรบอีกส่วนหนึ่งใช้ยุทธการ “City Under City” หรือการแฝงตัวอยู่ในสิ่งปลูกสร้างขนาดเล็กใต้ดินที่สร้างขึ้นเพื่ออำพรางตัวอย่างแยบยล ก่อนที่จะบุกโจมตี
หน่วยแทรกซึมซึ่งรวมถึงกองพลอัล-กอสซัม (Al-Qassam Brigades) ของกลุ่มฮามาสยังได้บุกเข้าไปกราดยิงคนหนุ่มสาวที่กำลังชมคอนเสิร์ตและเต้นรำเฉลิมฉลองในเทศกาลดนตรีซูเปอร์โนวา (Supernova Festival) ซึ่งเป็นงานที่จัดต่อเนื่องจากเทศกาลอยู่เพิงในทะเลทรายเนเกฟ ห่างจากกำแพงกั้นเขตแดนระหว่างกาซากับอิสราเอลประมาณ 5 กิโลเมตร การสังหารหมู่ครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 260 ราย ขณะที่หนุ่มสาวอีกนับพันคนวิ่งหนีตายกันกระเจิดกระเจิง นอกจากนี้ ยังมีการแชร์ภาพหญิงสาวชาวเยอรมนี-อิสราเอลวัยเพียง 22 ปีที่ถูกกองโจรฮามาสกระทำทารุณกรรมก่อนที่จะฆ่าทิ้งอย่างโหดเหี้ยม เพียงเพราะเข้าใจว่าหญิงสาวผู้นี้เป็นทหารอิสราเอล ทั้งที่เธอเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมงานเทศกาลดนตรีดังกล่าวเท่านั้น
… การจู่โจมดินแดนอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบ โดยเฉพาะนครเยรูซาเลม ทำให้ทางการอิสราเอลเปิดไซเรนเตือนประชาชนในเมืองต่าง ๆ ให้รับรู้ถึงสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. จากนั้นไม่นาน กองทัพอิสราเอลได้เปิดฉากตอบโต้กลุ่มฮามาสด้วยการส่งเครื่องบินรบถล่มฉนวนกาซา ส่งผลให้บ้านเรือน มัสยิด และบ้านพักของเจ้าหน้าที่ของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาได้รับความเสียหายอย่างหนัก และนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศภาวะสงคราม พร้อมสั่งการให้กองทัพตอบโต้และโค่นกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก
การโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัว ถือเป็นการหักหน้าหน่วยมอสซาด (Mossad) ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับอันเลื่องชื่อของอิสราเอล และนำไปสู่การตั้งคำถามถึงศักยภาพของหน่วยงานนี้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมอสซาดขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในหน่วยข่าวกรองที่ดีที่สุดในโลก มีเจ้าหน้าที่หน่วยราชการลับที่เก่งกาจกว่า 7,000 คน และได้รับการอัดฉีดงบประมาณจากรัฐบาลจำนวนมากถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ “ไอออนโดม” (Iron Dome) เทคโนโลยีอัจฉริยะซึ่งทำหน้าที่ปกป้องน่านฟ้าและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในคลังแสงของอิสราเอล … แต่การที่จรวดของกลุ่มฮามาสสามารถเจาะเกราะไอออนโดมเข้ามาได้ ทำให้กองทัพอิสราเอลต้องหันมาทบทวนจุดบอดของเทคโนโลยีชนิดนี้
วิเคราะห์ปมแค้นปาเลสไตน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เป้าหมายของกลุ่มฮามาสในการโจมตีอิสราเอลครั้งนี้ น่าจะมีสาเหตุหลัก 4 เหตุด้วยกัน คือ 1. การตอบโต้อิสราเอลเนื่องจากบาดแผลที่สะสมเป็นเวลานานจากสิ่งที่อิสราเอลกระทำต่อปาเลสไตน์ ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติต่อนักโทษชาวปาเลสไตน์ในเรือนจำอิสราเอลด้วยวิธีการอันเลวร้าย 2.กลุ่มฮามาสต้องการตัวประกันพลเรือนของอิสราเอล ซึ่งจะมีผลในการต่อรองเพื่อแลกเปลี่ยนกับนักโทษปาเลสไตน์ 3. กลุ่มฮามาสต้องการให้ประชาคมโลกหันมามองสถานการณ์ในปาเลสไตน์ และ 4. ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้กลุ่มฮามาสตัดสินใจโจมตีอิสราเอลมาจากการที่เจ้าหน้าที่อิสราเอลบุกเข้าไปในมัสยิดอัล-อักซอในนครเยรูซาเลม ซึ่งเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม
มัสยิดอัล-อักซอซึ่งตั้งอยู่บนเนินสูงในเขตเยรูซาเลมตะวันออก เป็นหนึ่งสถานที่สำคัญที่กลายมาเป็นชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ เนื่องจากมัสยิดแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดอันดับสามของศาสนาอิสลาม ขณะที่ชาวยิวก็มีความศรัทธาในฐานะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพวกเขาเช่นกัน โดยเรียกมัสยิดแห่งนี้ว่า “เนินพระวิหาร” หรือ “Temple Mount”
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีชาวอิสราเอลกลุ่มชาตินิยมทางศาสนาจำนวนมากหลั่งไหลกันเข้าไปเยือนมัสยิดอัล-อักซอ ซึ่งสร้างความกังวลใจให้ชาวปาเลสไตน์ และบ่อยครั้งที่เกิดการปะทะกันในมัสยิดแห่งนี้ ระหว่างชาวปาเลสไตน์ที่เข้ามาประกอบพิธีทางศาสนากับเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของอิสราเอล โดยข้อพิพาทส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีทางศาสนา
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศยังมองว่า ชีวิตอันแร้นแค้นของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ยังอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลุ่มติดอาวุธฮามาสตัดสินใจโจมตีอิสราเอลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งในแง่ขนาดและความรุนแรง โดยข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า ฉนวนกาซาซึ่งเป็นพื้นที่เล็กแต่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นกว่า 2.3 ล้านคนนั้น ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากนานาชาติในอัตราส่วนถึง 80% และประมาณ 1 ล้านคนต้องขอรับความช่วยเหลือด้านอาหารในแต่ละวัน ซึ่งบ่งชี้ว่าการดำรงชีวิตของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาต้องเผชิญความยากลำบากอย่างมาก ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในการดำรงชีวิตโดยทั่วไปนั้น ประชากรหนึ่งคนจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อดื่ม ทำอาหาร ชำระล้างสิ่งต่าง ๆ และอาบน้ำ รวมแล้วราว 100 ลิตรต่อวัน แต่ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาใช้น้ำได้เพียง 88 ลิตรต่อวันเท่านั้น
นอกจากนี้ อิสราเอลยังเป็นผู้ควบคุมน่านฟ้าเหนือฉนวนกาซา ควบคุมตลอดแนวชายฝั่งทะเลของฉนวนกาซาด้วย โดยจำกัดผู้คนและสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกตามแนวพรมแดน … และสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลงไปอีก เนื่องจากขณะนี้อิสราเอลได้ยึดครองฉนวนกาซาแบบเบ็ดเสร็จเพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าเส้นทางลำเลียงอาหาร น้ำ และเชื้อเพลิงเข้าไปยังฉนวนกาซาจะถูกตัดขาดด้วย
ฮามาสคือใคร?
เดิมทีนั้น ดินแดนอิสราเอลในปัจจุบันเป็นที่ตั้งรกรากของชาวปาเลสไตน์ แต่ต่อมาชาวยิวย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ จนเกิดข้อพิพาทกัน และยิ่งเมื่อชาวยิวก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นมาสำเร็จในปี 1948 หรือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความสัมพันธ์ของชาวปาเลสไตน์กับชาวยิวก็ยิ่งร้าวฉาน และในเวลานั้นเอง หลายประเทศในโลกอาหรับได้เข้าทำสงครามกับอิสราเอลเพื่อปลดปล่อยดินแดนปาเลสไตน์ แต่กลับพบกับความพ่ายแพ้ รวมถึงเสียดินแดนบางส่วนให้อิสราเอล จนนำไปสู่การตกลงสงบศึกที่ทำให้ปาเลสไตน์เสียพื้นที่ไปจำนวนหนึ่ง
ต่อมาในปี 1967 ชาติอาหรับบุกอิสราเอลอีกครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ในเวลาเพียง 6 วัน จึงเป็นที่มาของการเรียกศึกครั้งนี้ว่า “สงคราม 6 วัน” ซึ่งทำให้ชาติอาหรับสูญเสียพื้นที่ไปมากกว่าเดิม และหลังจากนั้นได้เกิดกลุ่มที่เรียกว่า องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) นำโดยนายยัสเซอร์ อาราฟัต เป็นองค์กรติดอาวุธที่ทำสงครามกับอิสราเอลเพื่อชิงดินแดนปาเลสไตน์กลับคืนมา
ในช่วงเวลานี้เอง “ฮามาส” ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมชาวปาเลสไตน์ติดอาวุธ ได้ถือกำเนิดขึ้นใน 1987 ก่อตั้งโดยอิหม่ามชีค อาเหม็ด ยาซิน และอับดุล อาซิซ อัล-รันติสซี โดยมีแนวคิดเช่นเดียวกับกลุ่มเคลื่อนไหวอื่น ๆ ของปาเลสไตน์ว่า อิสราเอลยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์ไว้โดยมิชอบ และมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยดินแดนปาเลสไตน์
ต่อมาในปี 1993 รัฐบาลอิสราเอลยอมจับมือกับกลุ่ม PLO ลงนามในข้อตกลงออสโล อนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองพื้นที่ส่วนหนึ่งที่อิสราเอลยึดมาได้ นั่นคือ ฉนวนกาซา แต่กลุ่มฮามาสมองว่า ข้อตกลงออสโลไม่เป็นธรรม และชาวปาเลสไตน์ควรได้พื้นที่เดิมคืนทั้งหมด จึงเกิดการต่อสู้ทางการเมืองแข่งกับกลุ่ม PLO โดยได้เสียงสนับสนุนจากชาวปาเลสไตน์บางส่วนที่มองว่า PLO ประนีประนอมเกินไปในการลงนามข้อตกลงออสโล
ท้ายที่สุดในปี 2006 พรรคฮามาสคว้าที่นั่งในสภาปาเลสไตน์ได้มากกว่ากลุ่ม PLO กลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจปกครองฉนวนกาซามานับตั้งแต่นั้น และได้ทำสงครามกับอิสราเอลเรื่อยมา เพื่อทวงคืนดินแดนปาเลสไตน์ โดยฮามาสได้แสดงเจตนารมณ์อันแรงกล้าที่จะสถาปนา “รัฐปาเลสไตน์” ขึ้นมาภายในพื้นที่ปกครองของตนเอง ในลักษณะ “Two-State Solution” หรือการจัดตั้งรัฐสองรัฐ ในขณะที่อิสราเอลก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะมองว่าอิสราเอลยึดพื้นที่เหล่านี้มาได้จากอาหรับตั้งแต่ชนะสมัยสงคราม 6 วัน
ส่องคลังแสงฮามาส หลังเจาะไอออนโดม-บุกอิสราเอลสายฟ้าแลบ
หากเปรียบเทียบกันในด้านแสนยานุภาพแล้ว คลังแสงของฮามาสไม่อาจเทียบชั้นได้กับคลังแสงอันยิ่งใหญ่ของอิสราเอล แต่การที่จรวดของกลุ่มฮามาสสามารถเจาะเกราะไอออนโดมและทะลวงเข้ามาในดินแดนอิสราเอลได้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตกใจและประหลาดใจให้กับคนทั่วโลก การโจมตีของฮามาสครั้งนี้นอกจากจะทำให้อิสราเอลไม่ทันตั้งตัวแล้ว ทั่วโลกยังพุ่งความสนใจไปที่ศักยภาพของกลุ่มฮามาส และตั้งคำถามว่าอาวุธของฮามาสมาจากไหน
ฮามาสได้เผยแพร่คลิปวิดีโอเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นภาพของนักรบฮามาสยิงจรวดโจมตีเครื่องบินอิสราเอล พร้อมกับเปิดตัวระบบป้องกันภัยทางอากาศ “Mubar-1” ซึ่งเป็นระบบที่ฮามาสพัฒนาขึ้นเอง เพื่อใช้จัดการกับเป้าหมายในอากาศที่บินในระดับต่ำ ซึ่งรวมถึงอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน และเฮลิคอปเตอร์
นอกจากฮามาสและกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์จะพัฒนาและผลิตอาวุธขึ้นใช้เองเป็นจำนวนมากแล้ว ส่วนหนึ่งยังถูกจัดส่งมาจากนอกฉนวนกาซาด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ากลุ่มฮามาสน่าจะหาอาวุธมาจากหลายช่องทาง ซึ่งรวมถึงการลักลอบขนอาวุธผ่านเรือ โดยอาวุธเหล่านี้จะถูกปิดผนึกอย่างดี และถูกทิ้งกลางทะเลห่างจากชายฝั่งฉนวนกาซาหลายไมล์ และรอให้กระแสน้ำพัดเข้าชายฝั่ง แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่เสี่ยงต่อการถูกกองทัพเรืออิสราเอลตรวจพบ
ส่วนอีกช่องทางหนึ่งนั้น น่าจะมาจากการสนับสนุนลับจากอิหร่านและซีเรีย โดยคาดว่ากลุ่มฮามาสสามารถสร้างเครือข่ายอุโมงค์ที่อยู่บริเวณใต้ชายแดนอียิปต์และฉนวนกาซา เพื่อขนส่งกระสุน อาวุธ และยุทโธปกรณ์ เข้ามายังคลังในฉนวนกาซาได้
ประมวลสถานการณ์ล่าสุด
สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับทั่วโลกในขณะนี้คือการที่กลุ่มฮามาสจับผู้คนเป็นตัวประกันซึ่งรวมถึงชาวไทยที่เข้าไปทำงานในอิสราเอล โดยล่าสุดฮามาสขู่ว่าจะสังหารตัวประกันชาวอิสราเอล หากอิสราเอลถล่มบ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า
นอกจากนี้ การสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลยังก่อให้เกิดความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมัน แม้ว่าอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างก็ไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่
สื่อของอิสราเอลรายงานล่าสุดว่า ชาวอิสราเอลเสียชีวิตอย่างน้อย 1,008 ราย นับตั้งแต่ที่กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ขณะที่มีผู้บาดเจ็บ 2,741 ราย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์เปิดเผยว่า ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเสียชีวิต 788 ราย บาดเจ็บ 4,100 รายจากการตอบโต้ของอิสราเอล
ส่วนสถานการณ์ของชาวไทยในอิสราเอลนั้น แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ณ วันที่ 10 ต.ค.ระบุว่า สถานการณ์ในอิสราเอลยังคงรุนแรง โดยยังมีการโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง แต่กองทัพอิสราเอลสามารถกระชับพื้นที่ในเขตเมืองต่าง ๆ ได้สำเร็จ และอพยพคนออกจากฉนวนกาซาได้แล้ว 15 จากทั้งหมด 24 เมือง โดยทางการอิสราเอลยืนยันว่า จะช่วยเหลือและดูแลคนทุกชาติในอิสราเอลอย่างเท่าเทียมและเต็มที่
ในส่วนของความคืบหน้าและผลกระทบต่อคนไทยในอิสราเอลนั้น สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ รายงานว่าได้รับแจ้งจากนายจ้างในพื้นที่ว่า มีคนไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 6 ราย รวมเสียชีวิต 18 ราย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางการอิสราเอล ส่วนจำนวนผู้บาดเจ็บคนไทยยังคงอยู่ที่ 9 ราย
กองทัพอิสราเอล พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันอพยพแรงงานไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยสูงสุดจากบริเวณไม่เกิน 4 กิโลเมตรรอบฉนวนกาซา โดยคนไทยเป็นส่วนหนึ่งในหลายร้อยคนจากทุกชาติที่ได้รับการเคลื่อนย้ายให้ไปพักอาศัยและทำงานในพื้นที่ปลอดภัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 66)
Tags: SCOOP, กลุ่มฮามาส, ฉนวนกาซา, ชาวยิว, ตะวันออกกลาง, ปาเลสไตน์, อิสราเอล