นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยืนยันว่ารัฐบาลจะยังเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท (Digital Wallet) เพราะถือเป็นนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งเชื่อว่าประชาชนอยากเห็นนโยบายนี้เดินหน้า และยืนยันว่ารัฐบาลจะพิจารณาข้อกฎหมาย กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบ อีกทั้งจะไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 5% ในช่วง 3-4 ปีต่อจากนี้
“คำว่าไม่ทำมาตรการนี้ ไม่มีอยู่ในความคิด เพราะได้รับมอบหมายมาแล้ว ได้แถลงนโยบายต่อสภาแล้ว ประชาชนเองก็อยากได้ อยากเห็นนโยบายนี้เดินหน้า การบอกว่าเราจะไม่ทำ เป็นไปไม่ได้ แต่ในทางกลับกัน เราจะพยายามทำให้มากที่สุด โดยจะพิจารณารายละเอียดของกรอบกฎหมาย ภาระต่องบประมาณ และวินัยการเงินการคลัง โดยมาตรการนี้รัฐจะได้รับเงินคืนมาในรูปแบบภาษี และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และ e-Gorvernment ในอนาคต เราเดินหน้าทำตามสัญญาที่ให้กับประชาชน และ รัฐสภาที่ได้แถลงไว้ โดยมุ่งเป้าเศรษฐกิจเติบโต 5% ในระยะ 3-4 ปีหน้า” รมช.คลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า กระทรวงการคลัง มุ่งมั่นเร่งสร้างความมั่นใจเดินหน้าในการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต และรู้สึกดีที่มีการถกเถียงกันในสังคมวงกว้าง ทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้เห็นมานาน ในการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ห่างหายเป็น 10 ปี ในรัฐบาลก่อนหน้า แต่รัฐบาลก็รับฟังข้อเสนอแนะให้รอบด้าน ยืนยันว่าเสียงสะท้อนจากการเลือกตั้ง ชัดเจนว่าต้องเดินหน้าโครงการนี้ให้สำเร็จให้ได้
“รัฐบาลพร้อมรับฟังเสียงของทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการที่สนับสนุน นักวิชาการที่คัดค้าน ภาคเอกชนที่รอการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ประชาชนที่รอคอยด้วยความหวัง ทั้งหมดจะถูกนำไปพูดคุยให้ตกผลึก และรวบรวมความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปที่เหมาะสม” รมช.คลัง ระบุ
โดยในวันที่ 12 ต.ค.นี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต จะนัดประชุมครั้งแรก เพื่อหารือถึงความจำเป็น ประโยชน์ วัตถุประสงค์ โครงการ และมอบหมายคณะอนุกรรมการ ไปหารือประเด็นต่าง ๆ จากนั้น วันที่ 19 ต.ค. จะประชุมคณะอนุกรรมการฯ เป็นครั้งที่ 2 หารือข้อสรุปทั้งหมดก่อนเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา และวันที่ 24 ต.ค. จะเสนอเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่ ส่วนจะมีข้อเสนอหรือสั่งการอย่างไร ต้องขึ้นกับการตัดสินใจของคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป
นายจุลพันธ์ ระบุว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพ และช้ากว่าภูมิภาค ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนยังเปราะบาง ดังนั้นมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต จะมาจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจให้เติบโตอีกครั้งหนึ่ง เป็นการใส่เงินให้ทั่วถึง กระจายทุกพื้นที่ สร้างโอกาสการจ้างงาน สร้างการลงทุน เพิ่มการผลิต
“ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัว เช่น รายได้ภาคเกษตรที่ลดลง การเก็บภาษีบางส่วนที่ลดลง ดัชนีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะ จาก 40% เป็น 60% ต่อ GDP เหล่านี้สะท้อนว่าเป็นสถานการณ์ที่เปราะบาง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่จึงมีความจำเป็นที่จะมาช่วย re start ชีวิตของประชาชน และช่วยสร้างเม็ดเงินให้กระจายทั่วประเทศ” นายจุลพันธ์ กล่าว
ส่วนที่มีการพูดว่ามาตรการดังกล่าว เป็นคริปโทเคอเรนซี ที่จะมีการซื้อตุนไว้นั้น ขอชี้แจงว่า ไม่ใช่การเสกเงินขึ้นมาใหม่ เงินทุกบาทยังเป็นไปตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ใช่พิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ หรือเขียนโปรแกรมมาใหม่ ไม่มีการปรับมูลค่า แบคอัพบาทต่อบาท แต่ใช้ในบาทดิจิทัล ที่ถูกกำหนดเงื่อนไขการใช้ ให้มีมูลค่าเศรษฐกิจมากที่สุด เช่น ใช้ภายในระยะเวลา 6 เดือน กำหนดระยะทาง กำหนดประเภทห้ามใช้ จึงตอบได้ว่านโยบายนี้มีประสิทธิภาพกว่านโยบายอื่น ๆ ที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถนำไปสู่การออม นำไปใช้หนี้สิน แต่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย
สำหรับเงื่อนไขที่กำหนดรัศมีที่ใช้ใน 4 กิโลเมตร ซึ่งมีการถกเถียงกันมากมายนั้น เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาเพื่อเสนอให้คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่พิจารณา แต่ในเบื้องต้นยืนยันว่ามีความโน้มเอียงที่จะขยายกรอบระยะทางในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสะดวกสำหรับประชาชน โดยจะมีข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้
ส่วนประเด็นแหล่งที่มาของเม็ดเงิน ต้องใช้เวลาในการพิจารณา โดยจะมีมากกว่า 1 ทางเลือกให้กระทรวงการคลังพิจารณา แต่จะเลือกใช้กลไกที่เหมาะสมที่สุด หรืออาจจะผสมผสานกัน แต่ยืนยันอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลทำทุกอย่างในกรอบกำหมาย เราไม่ทะลุกรอบของกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างแน่นอน โดยมาตรการนี้จะใช้แหล่งงบประมาณเป็นส่วนใหญ่ ส่วนรายละเอียดขอให้รอสิ้นเดือน ต.ค. นี้
รมช.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้มีปัญหาใด ๆ กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยที่ผ่านมา มีการทำงานสอดประสานกันดี และผู้ว่าการ ธปท. เองก็อยู่ในคณะกรรมการชุดใหญ่ การทำงานที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหา ไม่เคยไม่เข้าใจ ธปท. ได้มีการพูดคุยถึงแนวนโยบาย ข้อเสนอแนะ ซึ่งรัฐบาลพร้อมรับฟัง และนำกลับมาพิจารณาว่าจะสามารถปรับแก้ไขให้เกิดความสมดุลได้อย่างไร
ทั้งนี้ รัฐบาลเข้าใจมิติของ ธปท. ที่เน้นเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่ในมิติของรัฐบาล ต้องดูนอกเหนือจากเรื่องเสถียรภาพ คือต้องผลักดันให้เกิดการเติบโต เป็นสิ่งที่ละทิ้งไม่ได้ และกลไกเดียวที่จะทำให้เกิดการเติบโตมากถึง 5% นั้น เป็นเป้าหมายของรัฐบาลในการพาประเทศกลับไปเติบโตในระดับที่เหมาะสม
“การที่ ธปท. ส่งข้อห่วงใยมา เราก็รับฟัง และพร้อมนำไปปฏิบัติให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความสบายใจของทุกฝ่าย โดยในส่วนขององค์กร ทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท. ไม่ได้มีอะไรกัน เรารักกัน โดยสุดท้ายรายละเอียดจะออกมาเป็นอย่างไร สิ้นเดือนนี้ได้รู้กัน” นายจุลพันธ์ ระบุ
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าจะทำทุกเรื่องเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ในระดับที่เหมาะสมที่ 5% ซึ่งไม่ได้มีแค่มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตเพียงมาตรการเดียว ส่วนกระแสข่าวเรื่องแหล่งเงินจากธนาคารออมสินนั้น ยังไม่มีข้อสรุป และขอยืนยันอย่างชัดเจนอีกครั้งว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ส่วนจะใช้แหล่งเงินจากมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่เชื่อว่าจะมีหลายทางเลือกแน่นอน
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันนี้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ การปรับลดคาดการณ์ GDP จึงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่ารอบต่อไปก็มีแนวโน้มลดลงอีก ดังนั้นการเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ผิด เพื่อให้เศรษฐกิจกลับไปเติบโตใกล้เคียงกับศักยภาพ
“อยากให้เชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของกระทรวงการคลังในการรักษาวินัยการเงินการคลัง ไม่ว่าแหล่งเงินจะมาจากไหน ใช้จ่ายอย่างไร ใช้คืนอย่างไร ทั้งหมดจะชัดเจน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการออกแบบมาตรการ” นายลวรณ ระบุ
ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า จะต้องมีการพูดคุยกับ ธปท. ซึ่งที่ผ่านมามีการทำงานอย่างใกล้ชิดกันอยู่แล้ว เพื่อให้เข้าใจความตั้งใจของรัฐบาลว่าไม่ได้ละเลยเรื่องเสถียรภาพ แต่วันนี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ ดังนั้นนโยบายการคลังที่เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินที่เน้นเรื่องเสถียรภาพ จะต้องไปด้วยกัน
“นโยบายการคลังเป็นคันเร่ง นโยบายการเงินเป็นเบรก จึงต้องมีจังหวัดที่สอดประสานกัน จะเร่งเมื่อไร เบรกตอนไหน ต้องไปด้วยกันอย่างนุ่มนวล” นายลวรณ ระบุ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า มีความจริงที่จะต้องชี้แจงและแลกเปลี่ยนเพื่อให้ครบถ้วนมากขึ้น คือ การเติมเงินในลักษณะนี้ มีการกำหนดเงื่อนไข ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ส่งผลกับเศรษฐกิจในเชิงบวกมากกว่าการกระจายเม็ดเงินแบบเดิม และยังดำเนินการง่ายกว่า รวดเร็วกว่า ปลอดภัยสูงกว่า
ขณะเดียวกัน เม็ดเงินสูงถึง 1 หมื่นบาทต่อคน ต่างจากการกระจายแบบกระปริบกระปรอย จึงไม่ใช่การกระตุ้นการบริโภคเพียงครั้งเดียว แต่จำนวนเงินที่รวมกันในครัวเรือน ซึ่งมากพอที่จะทำให้เกิดการลงทุนขนาดเล็กในชุมชน ในหมู่บ้าน เมื่อคิดคำนวณผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้วยังสร้างอาชีพใหม่ การลงทุนใหม่ ประชาชนในพื้นที่ได้ลืมตาอ้าปาก ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จากมาตรการครั้งนี้
นอกจากนี้ มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังไม่เคยมีความเห็นเชิงวิชาการเลย คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล แต่กลับไม่ถูกพูดถึง และรัฐบาลมองไปถึงเป้าหมายในการสร้างซุปเปอร์แอปพลิเคชัน เพื่อให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล ต่อยอดเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งมีมูลค่ามหาศาล และมาตรการนี้ไม่ใช่แค่มาตรการเดียวของรัฐบาล การให้ความเห็นโดยมองเพียงมาตรการเดียว ยังถือว่าไม่ครบถ้วน เพราะรัฐบาลวางแผนจะมีอีกหลายมาตรการ ทั้งการดึงดูดนักท่องเที่ยว ลงทุน อุตสาหกรรม และบริการใหม่ ๆ ที่จะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 66)
Tags: Digital Wallet, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ดิจิทัลวอลเล็ต, เงินดิจิทัล, เศรษฐกิจไทย