KTB มองบาท Q4/66 ยังอ่อนค่า คาดทั้งปีเฉลี่ย 34.50 ก่อนทยอยแข็งค่าในปี 67

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินทิศทางค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 4/66 ว่า ระดับค่าเงินบาทอยู่ในเกณฑ์อ่อนค่า คาดการณ์ว่าจะอยู่ในกรอบ 35.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อค่าเงินบาทในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งได้เริ่มส่งผลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนส.ค. มีดังนี้

1. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากเดิมที่คาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะจบลงแล้ว แต่ข้อบ่งชี้ล่าสุดระบุว่ายังขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย หรือชะลอมากอย่างที่คาดไว้ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินทั่วโลก ไม่ได้เป็นปัจจัยเฉพาะเจาะจงแค่เงินบาท

2. ค่าเงินหยวนส่งผลต่อสกุลเงินในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงค่าเงินบาทด้วย ซึ่งเศรษฐกิจจีนขณะนี้ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวนานกว่าที่นักลงทุนคาดไว้ โดยค่าเงินหยวนตั้งแต่ต้นปี (Year to Date: YTD) อ่อนค่าไปแล้วประมาณ 5%

3. ราคาทองคำที่ลดลงตั้งแต่ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทุกครั้งที่ราคาทองคำพุ่งลง ก็จะมีโฟลว์เงินออกไปซื้อทองมาก

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ คือ เรื่องความไม่ชัดเจน และความกังวลเรื่องนโยบายของรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้แหล่งเงินจากที่ใด รูปแบบเป็นอย่างไร และจะทำให้อุปทานของเงินเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าไร

“ประเด็นนี้ อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติ มองว่า รัฐบาลอาจต้องกู้เงินจำนวนมาก และมีภาระทางการคลัง ขาดดุลการคลังมากขึ้น ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะลดการถือครองเงินบาทไปก่อน เพื่อรอดูความชัดเจน” นายพชรพจน์ ระบุ

นายพชรพจน์ คาดการณ์ระดับค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 66 ว่าอยู่ที่ประมาณ 34.50 บาท/ดอลลาร์ โดยมองว่าในช่วงสิ้นปี เงินบาทอยู่ในระดับอ่อนค่า แต่ปี 67 เงินบาทน่าจะทยอยฟื้นตัวแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง จึงให้กรอบเงินบาทปีหน้า ไว้ที่ 32.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ โดยเฉลี่ยทั้งปี 67 อยู่ที่ 33.75 บาท/ดอลลาร์

พร้อมมองปัจจัยที่จะมีผลต่อค่าเงินบาทในปี 67 คือ ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยช่วงต้นปี คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเดือนละประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาครึ่งปีแรก มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้แล้ว ดังนั้น ทั้งปี 67 รายได้ที่มาจากเงินตราต่างประเทศจะมากกว่าปีนี้ จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีทิศทางที่ดีขึ้น

ประกอบกับปีหน้า มองว่าการส่งออกโดยรวมของไทยจะเติบโตได้ประมาณ 3-4% จากปีนี้ที่ติดลบ 1.5-2.0% ซึ่งทั้งสองปัจจัยดังกล่าว ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยให้ค่าเงินบาทกลับมาประคองตัวได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top