นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนในเรื่องการขยายเพดานหนี้สหรัฐอเมริกาส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของค่าเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาทะลุเพดานหนี้ 32 ล้านล้านดอลลาร์ ขบวนการออกจากดอลลาร์ การลดการถือครองดอลลาร์ในทุนสำรองหันไปถือทองคำมากขึ้น (De-Dollarization) เกิดมากขึ้นตามลำดับหากสหรัฐอเมริกายังแก้ปัญหาหนี้สาธารณะการขาดดุลงบประมาณและดุลการค้าไม่ได้
อย่างไรก็ตาม บทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐฯในระบบการเงินระหว่างประเทศในฐานะเงินสกุลหลักจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกระยะหน้าจากการที่ไม่มีเงินสกุลอื่นหรือเงินในรูปแบบอื่นๆมาทดแทนได้ในเวลาอันสั้น
แต่ปัญหาภาระหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล ล่าสุด (ตัวเลข ณ. สิงหาคม พ.ศ. 2566) หนี้สาธารณะทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 32.91 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อความมีเสถียรภาพมั่นคงของดอลลาร์ การที่หนี้สาธารณะทะลุเพดานก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักในรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในการปิดหน่วยงานรัฐ รัฐบาลขาดสภาพคล่อง หากไม่ขยายเพดานหนี้ชั่วคราว
ขณะเดียวกันการขยายเพดานไปเรื่อยๆทุกปีเมื่อมีการจัดทำงบประมาณก็ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของหนี้สาธารณะ ประเด็นความยุ่งยากและปัญหาในการขยายเพดานหนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากระทบต่อความเชื่อมั่นต่อค่าเงินดอลลาร์ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และจะทำให้ บทบาทของเงินดอลลาร์ บทบาทของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง เรื่อย ๆ ในทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ
ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายประเทศได้เพิ่มสัดส่วนของ “ทองคำ ” มากขึ้นเรื่อย ๆ ทองคำเป็นสิ่งที่หนุนหลังค่าเงินที่มีความมั่นคงมากกว่า เงินเฟียต (Fiat Money) ที่ออกโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (ดอลลาร์สหรัฐฯ) ธนาคารกลางยุโรป (เงินยูโร) ธนาคารกลางจีน (เงินหยวน) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (เงินเยน) การเก็บสะสมทองคำเพิ่มเติมของธนาคารกลางหลายแห่ง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจต่อเงินดอลลาร์และสกุลเงินท้องถิ่นของตัวเองอีกด้วย เวลาเรานึกถึงเงินที่มั่นคง เรามักจะนึกถึงทองคำเสมอ มนุษย์พยายามสร้างรูปแบบของเงินที่ดีกว่าทองคำมาตลอดหลายศตวรรษ อุปทานของทองคำที่ถูกขุดขึ้นมาใหม่มีปริมาณน้อยกว่าอุปทานที่มีอยู่เดิมจึงทำให้มูลค่าทองคำไม่ผันผวน มีความมั่นคง และ สามารถเก็บรักษามูลค่าดีมาก การสร้างรูปแบบของเงินที่ดีกว่าทองคำมาตลอดหลายศตวรรษจึงยังไม่สำเร็จ
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เงินเฟียต (Fiat Money) เป็นเงินตราที่อำนาจรัฐตราขึ้นและรับรองให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่ได้มีโลหะมีค่าหนุนหลังเต็มจำนวน โดยสิ่งที่นำมาใช้ไม่ใช่โลหะมีค่า เช่น เงินธนบัตรก็เป็นเพียงกระดาษ การยกเลิกผูกติดกระดาษธนบัตรกับทองคำก็เพื่อให้ธนาคารกลางมีความสามารถในการพิมพ์เงินอัดฉีดสภาพคล่องและลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเวลาเศรษฐกิจมีปัญหาถดถอยเงินเฟียตจึงเหมือนเป็นหนี้ภาระผูกพัน ที่ธนาคารกลางออกมาให้คนถือครองโดยไม่จ่ายดอกเบี้ย มันมีค่าเพราะเราเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ เชื่อมั่นในระบบการเงินและธนาคารกลาง
การที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีหนี้สินจำนวนมากและเป็นปัญหาเรื้อรังมากนานมากย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ต่อเงินดอลลาร์ในฐานะเงินสกุลหลักของโลก เพียงแต่ว่า ตอนนี้ยังไม่มีสิ่งใดมาทดแทน ดอลลาร์ได้ในช่วงหนึ่งหรือสองทศวรรษ ดอลลาร์สหรัฐฯจึงยังรักษามูลค่าไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพร์มเมื่อปี ค.ศ. 2008 ธนาคารกลางได้ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing-QE)เพิ่มปริมาณเงิน พิมพ์เงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาวิฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดเป็นระยะๆ จนกระทั่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านจึงเริ่มทยอยถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing – QE) ทำให้ค่าเงินเสื่อมค่าลงจากเงินเฟ้อสูง
ระบบการเงินโลกที่เราใช้อยู่เวลานี้ยังคงมีลักษณะรวมศูนย์ (Centralized Finance – CeFi) ขณะที่ได้เกิดพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized Finance – DeFi) ขยายตัวและมีต้นทุนทางการเงินต่ำลงมาก แนวโน้มดังกล่าวทำให้ เงินเฟียต (Fiat Money) ไม่ว่าสกุลไหนย่อมมีบทบาทลดลงในระบบการเงิน โดยสิ่งที่จะเข้ามาแทนที่มากขึ้นตามลำดับ คือ เงินดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ หากเงินดิจิทัลนั้นสามารถทำหน้าที่พื้นฐานของเงินได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น หน่วยในการวัดมูลค่า (Unit of Account) สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) หรือหน่วยในเก็บรักษาและสะสมมูลค่า (Store of Value) บทบาทที่เพิ่มขึ้นของเงินดิจิทัลในรูปแบบต่างๆจะส่งผลให้บทบาทของธนาคารกลางและอธิปไตยทางการเงิน(Monetary Sovereignty) ลดลง
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่าธนาคารกลางจีนถือเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมูลค่าสูงถึง 859,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จีนจึงเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา หากจีนขายสินทรัพย์ดอลลาร์ออกมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศย่อมเกิดแรงกดดันต่อเงินดอลลาร์และฐานะทางการเงินการคลังของสหรัฐอเมริกา และ จีนเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย สิ่งที่เราคาดการณ์ได้ก็คือ จีนน่าจะค่อยๆทยอยลดการถือครองดอลลาร์ จะไม่ขายออกมาจำนวนมากๆครั้งเดียว เพิ่มการถือทองคำพร้อมเพิ่มบทบาทเงินหยวนในฐานะเงินสกุลหลักของโลกซึ่งจีนต้องเปิดเสรีทางการเงินมากกว่านี้เพื่อให้ธุรกรรมซื้อขายเงินหยวนมีความคล่องตัว รวมทั้งบทบาทเพิ่มขึ้นของเงินสกุลดิจิทัล คริปโตเคอร์เรนซีและบิตคอยน์ ระบบการเงินทางเลือกใหม่แบบไร้ศูนย์กลางจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น เรื่อยๆในระบบการเงินระหว่างประเทศ
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ระบบการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary System) ของโลกนั้นผ่านการเปลี่ยนแปลงใหญ่และนำไปสู่การล่มสลายของระบบการเงินระหว่างประเทศเดิมล่มสลายลงและเกิดระบบการเงินระหว่างประเทศใหม่เกิดขึ้นทดแทน 3 ครั้งในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา คือ ปี ค.ศ. 1914, ค.ศ. 1939 และ ค.ศ. 1971 และ คาดการณ์ได้ว่า ภายในไม่เกิน 10 ปีนี้คงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการเงินระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง ระบบการเงินระหว่างประเทศที่มีดอลลาร์สหรัฐฯเป็นเงินสกุลหลังการล่มสลายของระบบมาตรฐานปริวรรตทองคำมามากกว่า 52 ปี (นับแต่ปี ค.ศ. 1971) ระดับการเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อมกับอัตราการออมที่ลดลงในประเทศพัฒนาแล้ว ระบบทุนนิยมโลกที่อยู่บนฐานของเงินที่ไม่มั่นคง (เงินดอลลาร์ มีความผันผวนสูง) มีความเปราะบางอย่างยิ่ง
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เงินบาทอ่อนอย่างรวดเร็วในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการควรปล่อยตามกลไกตลาด คาดหลังเดือนพฤศจิกายนแข็งค่าขึ้น ค่าเฉลี่ยทั้งปี พ.ศ. 2565 ของเงินบาทอยู่ที่ 35.6 ซึ่งเป็นปีที่เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากต้นปี 65 ที่เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 33- 34 บาท อ่อนค่าลงโดยไตรมาสสามของปี 65 อยู่ที่ 36.42 ไตรมาสสี่ของปี 65 อยู่ 36.32 เลยดึงให้ค่าเฉลี่ยทั้งปีมาอยู่ที่ 35.6 ในปี พ.ศ. 2565 ส่วนในปี พ.ศ. 2566 นั้นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาสแรก และ ไตรมาสสอง มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 33.92 และ 34.98
การที่ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง(แกว่งตัวในช่วง 36.91-37.05 บาทต่อดอลลาร์) ช่วงต้นเดือนตุลาคม เป็นผลจากเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้นด้วย ตามรายงานดัชนี ISM PMI สหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด การจ้างงานเพิ่มขึ้นแม้นค่าจ้างปรับเพิ่มแบบชะลอตัวลง ถ้อยแถลงของ เฟด ยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank of International Settlements)
ประเมินว่า ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศมีมูลค่าสูงกว่าจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกถึง 25-30 เท่าตัว มีมูลค่าการซื้อขายแต่ละวันไม่ต่ำ 5.5-5.6 ล้านล้านดอลลาร์ เกือบ 2,000 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่จีดีพีโลกอยู่ที่ประมาณ 80-85 ล้านล้านดอลลาร์ พึงรำลึกว่า การแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศนั้นไม่ใช่กระบวนการผลิตสินค้าจึงทำให้ปริมาณมูลค่าการซื้อขายไม่ปรากฎรวมอยู่ในตัวเลขจีดีพีโลก มูลค่ามหาศาลในตลาดแลกเปลี่ยนเงินจึงมีประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจน้อยมาก และธุรกรรมส่วนใหญ่เป็นการเก็งกำไร ความไม่สมบูรณ์ของตลาดปริวรรตเงินตราหรือตลาดอัตราแลกเปลี่ยนได้ลดทอนผลประโยชน์แท้จริงจากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศอย่างต่อประชาชนให้ลดลง
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า รูปแบบ หรือ Pattern การเคลื่อนไหวของเงินบาทปี 66 คล้ายปี 65 แข็งค่าต้นปี อ่อนค่าลงครึ่งหลังของปี แต่ปี 66 ปลายปีเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่ามากกว่าปี 65 เพราะมีปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่า ปัจจัยที่มีผลกดดันในเงินบาทอ่อนค่าในช่วงนี้เป็นเรื่องระยะสั้น ชั่วคราว โดยเฉพาะเงินไหลออกจากตลาดการเงินไทย ภาคส่งออกไม่สามารถขยายตัวฟื้นตัวเป็นบวกได้
ส่วนเงินไหลเข้าจากภาคท่องเที่ยวต่างชาตินั้นชะลอตัวลงในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมเพราะไม่ใช่ช่วงไฮซีซั่น เชื่อว่า ปลายปีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนสถานการณ์จะพลิกกลับได้ จะดึงให้ค่าเฉลี่ยทั้งปีของเงินบาทปี 2566 ไม่ต่างไปจากปี 2565 (35.60) มากนัก คือ อยู่ที่ประมาณ 35.50-35.80 บาทต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสล่าสุดกดดันต่อตลาดพลังงานและตลาดการเงินโลก ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ดอลลาร์สหรัฐฯทรงตัวเมื่อเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลัก แต่ดอลลาร์สหรัฐฯยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แสดงความแข็งแกร่งของสหรัฐฯและดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูง
สงครามในตะวันออกกลางครั้งนี้ ไทยควรวางตัวเป็นกลางแสดงจุดยืนไม่เห็นกับสงครามและการใช้ความรุนแรง ขอให้ “อิสราเอล” และ “กลุ่มฮามาส” เจรจาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งโดยเร็ว มีแรงงานไทยอยู่ในอิสราเอลเกือบ 30,000 คน อยู่ในพื้นที่สงครามสู้รบราว 5,000 คน การอพยพแรงงานไทยกลับหรือไม่นั้นเป็นเรื่องความสมัครใจของแรงงานแต่ละคน
นายอนุสรณ์ ได้กล่าวแนะเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรมีนโยบายและมาตรการพัฒนาทักษะอนาคตสำหรับแรงงานไทย ที่ AI ทำแทนไม่ได้ ใช้งบประมาณในการเดินหน้าลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรมรวมทั้งการฟื้นและสร้างเศรษฐกิจ บนฐานการลงทุนอย่างยั่งยืน มากกว่า บนฐานการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ควรออกแบบนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเลตใหม่ โดยปรับเปลี่ยนและทบทวนหลักเกณฑ์ในการแจกเงินใหม่ ไม่ให้แบบถ้วนหน้า ไม่ควรแจกเงินให้คนมีฐานะทางเศรษฐกิจหรือไม่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ แม้นแจกคนกลุ่มนี้ไปก็ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด ไม่มีความจำเป็นต้องแจกให้บุคคลผู้มีรายได้สูง ผู้บริหารภาคเอกชน ข้าราชการระดับสูง เป็นต้น
การทบทบวนเกณฑ์และใช้งบประมาณน้อยลงจะช่วยลดความเสี่ยงทางการคลัง เม็ดเงินที่สูงถึง 5.6 แสนล้านบาทนั้นรัฐบาลหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกู้เงินในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเนื่องจากสัดส่วนภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 13-14% เท่านั้น นอกจากนี้ยังจะทำให้มีเม็ดเงินเหลือไปใช้ในโครงการอื่นๆที่มีประโยชน์ หรือเพิ่มเม็ดเงินให้กับครอบครัวที่ยากจนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ แทนที่จะให้ 10,000 บาท อาจให้ 20,000-30,000 บาทก็ได้ การมุ่งเป้าไปที่ครอบครัวยากจน ครอบครัวหนี้สินล้นพ้นตัว กลุ่มเปราะบาง (ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการที่ไม่มีงานทำ) โดยไม่แจกแบบถ้วนหน้าทั่วไป จะทำให้ รัฐบาลสามารถแจกเงินเพิ่มขึ้นมากพอที่จะนำไปลงทุนประกอบอาชีพเพื่อหลุดพ้นจากความยากจนและกับดักแห่งการเป็นหนี้ได้
นายอนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า จากรายงานวิจัยล่าสุดของธนาคารโลกได้วิเคราะห์ความยากจนและแนวโน้มความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยจากสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐ พบว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จากเมื่อปี 2531 ที่มีสัดส่วนคนยากจนมากกว่าร้อยละ 65 เป็นต่ำกว่าร้อยละ 10 ในปี 2561 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของรายได้ครัวเรือนและการบริโภคได้หยุดชะงักลงทั่วประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ความก้าวหน้าในการลดความยากจนของประเทศไทยถดถอยลง พร้อมกับจำนวนประชากรยากจนที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2558- 2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 9.8 อีกทั้งจำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4,850,000 คนเป็นมากกว่า 6,700,000 คน ความยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 นี้กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ
ในช่วงเวลานี้ จำนวนประชากรที่ยากจนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งล้านคนในแต่ละภาค ในขณะที่ อัตราความยากจนในพื้นที่ขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้สูงที่สุดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560 หากใช้ฐานข้อมูลก่อนวิกฤติเศรษฐกิจโควิดคนยากจนจะอยู่ที่ประมาณ 6.7 ล้านคน หลังวิกฤติเศรษฐกิจโควิด หากเอาตัวเลขจดทะเบียนคนจนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะอยู่ที่ 13 ล้าน ต่อมา เมื่อปีที่แล้วเปิดให้มีการมาลงทะเบียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนเพิ่มขึ้นมาที่ 22.20 ล้านคน หากแจกกันเต็มที่เลยเพื่อไม่ให้มีใครตกหล่น 22.20 ล้านคนจะใช้เงินเพียง 2.22 แสนล้านบาท หรือ หากใช้ฐานตัวเลขคนจนของธนาคารโลก 6.7 ล้านคน ก็จะใช้เงินงบประมาณ 67,000 ล้านบาท เทียบกับแบบถ้วนหน้าอายุ 16 ปีขึ้นไปโดยไม่เลือกว่ารวยหรือจน จะใช้เงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท
การแจกเงิน 2.22 แสนล้านให้กับคนมีรายได้น้อยยากจนหรือมีรายได้ปานกลางระดับล่างมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ต่างจากการแจกเงินแบบถ้วนหน้า 5.6 แสนล้านอย่างมีนัยยสำคัญ เพราะคนรวยมีอัตราความโน้มเอียงในการบริโภคจากเงินโอนหรือเงินได้รับแจก 10,000 น้อยกว่าคนยากจนอย่างมาก เพราะคนยิ่งยากจนมากเท่าไหร่และมีหนี้สินมากด้วย จะมีอัตราความโน้มเอียงการใช้จ่ายการบริโภคจากเงินโอนหรือเงินได้รับแจกมากเท่านั้น ได้มาทั้ง 10,000 บาทก็จะเอาไปใช้จ่ายหมด จำนวนหมุนรอบของเงินก็จะมากกว่า แจกให้คนรวยบรรดาผู้มีรายได้สูงอาจไม่ใช้สิทธิ ไม่ต้องการรับเงินแจกก็มี ผลต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายต่ำมาก หากเป้าหมายของนโยบายนี้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจแรงๆจะไม่บรรลุผลการแจกเงินให้คนรวยจึงไม่ตรงเป้าหมาย และอาจเป็นการยัดเยียดเอาเงินที่รัฐบาลไปกู้มาแจกให้กลุ่มผู้มีรายได้สูงโดยที่พวกเขาไม่ต้องการและไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล
การแจกเงินมุ่งเป้าไปที่คนยากจนเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจึงเป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบความคุ้มค่าบาทต่อบาท มูลค่าอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของเงินนั้นลดลงน้อยกว่ามูลค่าอรรถประโยชน์ของสินค้าทั่วไปตามกฎแห่งการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม (Law of Diminishing Marginal Utility) ขณะเดียวกัน อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของรายได้หรือเงินที่ได้รับ 1 บาทย่อมมีความหมายต่อคนที่มีรายได้ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน มากกว่า คนที่มีรายได้สูงอย่างแน่นอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ต.ค. 66)
Tags: ค่าเงินบาท, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เงินดิจิทัล, เงินบาท, เศรษฐกิจไทย, แจกเงิน