สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวไทยเติบโตช้า อีกทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้มีปัจจัยท้าทายหลายประการ ส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น ไทยจึงยิ่งจำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และสามารถรับมือกับผลกระทบ รวมถึงช่วงชิงโอกาสจากความท้าทายต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสนค. เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโต GDP เฉลี่ยของไทย อยู่ที่ 1.8% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจสำคัญอื่นในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้การเติบโตของรายได้ต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมากนัก (ขยายตัว 1.5%)
ธนาคารโลกได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปี 66 ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 2.1% (จาก 3.1% ในปี 65) และจะยังคงขยายตัวในอัตราที่ไม่เร่งตัวมากนักที่ 2.4% ในปี 67 และ 3.0% ในปี 68 และคาดการณ์ว่า GDP ของไทยจะขยายตัวที่ 3.9% ในปี 66 หลังจากนั้นจะชะลอตัวที่ 3.6% และ 3.4% ในปี 67 และปี 68 ตามลำดับ ขณะที่คาดการณ์ว่า GDP ของอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในปี 66 จะขยายตัวที่ 4.9% 6.0% 4.3% และ 6.0% ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบกับเขตเศรษฐกิจอื่นทั่วโลก ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับปานกลาง (อันดับที่ 30) และมีการพัฒนาอันดับดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า 3 อันดับ ด้านการค้าสินค้าระหว่างประเทศ ในส่วนการส่งออก แม้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยขยายตัว 6% จากปีก่อนหน้า แต่ยังขยายตัวในอัตราที่น้อยกว่าการส่งออกของทั้งโลก (11%) อีกทั้งอันดับผู้ส่งออกสินค้าโลก เลื่อนลง 1 อันดับ
ขณะที่ส่วนการนำเข้า มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยขยายตัว 14% มากกว่าการนำเข้าของทั้งโลก (13%) แต่อันดับผู้นำเข้าสินค้าโลกไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ในปี 65 ไทยได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Inflows) น้อยกว่าประเทศเศรษฐกิจสำคัญอื่นในภูมิภาคอาเซียน ยกเว้นฟิลิปปินส์ โดยเม็ดเงินลงทุนในไทยลดลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาคอาเซียน อาทิ
– มาเลเซีย ขีดความสามารถในการแข่งขันเลื่อนขึ้น 5 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 27 การส่งออกสินค้าปี 65 ขยายตัว 18% ทำให้ส่วนแบ่งตลาดส่งออกโลกเพิ่มขึ้น ที่ 1.4% และได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของภูมิภาค ซึ่งมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 39.2% จากปีก่อนหน้า
– อินโดนีเซีย ขีดความสามารถในการแข่งขันเลื่อนขึ้นถึง 10 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 34 การส่งออกสินค้าปี 65 ขยายตัวถึง 26% ทำให้ส่วนแบ่งตลาดส่งออกโลกเพิ่มขึ้นที่ 1.2% และได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาค ซึ่งมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 4.0% จากปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ ปี 61 ไทยได้เริ่มประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (61-80) โดยมียุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เป็น 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์ในการยกระดับศักยภาพของประเทศ ซึ่งครอบคลุมยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง 5 ประเด็น ได้แก่ 1. การเกษตรสร้างมูลค่า 2. อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 3. สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว 4. โครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมไทย เชื่อมโลก และ 5. พัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่
ปัจจุบัน หลายหน่วยงานภาครัฐมีแผนการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับความสามารถและการพัฒนาในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ที่มีแผนการดำเนินการและโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
อาทิ พัฒนาศักยภาพทางการค้าของเกษตรกรและผู้ประกอบการ พัฒนาระบบนิเวศทางการค้า และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ รวมถึงได้ดำเนินการเจรจากับประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยใช้นโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (Strategic Partnership) ในการดึงดูดการลงทุนใน EEC อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการลงทุนในด้านที่แต่ละประเทศมีความเชี่ยวชาญ และสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่กล่าวมาข้างต้น ไทยจึงยิ่งจำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และสามารถรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกและไทย รวมถึงช่วงชิงโอกาสจากความท้าทายต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ผ่านการพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ
1. การพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ เร่งลงทุนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกช่วงอายุ โดยระยะสั้นควรมีการ Up-skill/ Re-skill แรงงานในภาคการผลิตที่มีอยู่ ระยะกลางควรมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน และระยะยาวควรมีการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละช่วงอายุ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการด้านการค้า รวมถึงการทำตลาดในต่างประเทศ
2. การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และดิจิทัล เนื่องจากเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงอื่นๆ ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเร่งพัฒนาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ที่ไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
3. การส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจโดยเฉพาะภาคการผลิต ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และนำมาประยุกต์ใช้ในภาคการผลิตอย่างเหมาะสม รวมถึงการใช้ซอฟท์แวร์ในการผลิตและการบริหารจัดการ และมีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-Circumvention) อย่างเหมาะสม อีกทั้งควรเร่งพัฒนา/ ปรับปรุงระบบนิเวศในการดำเนินธุรกิจ
4. การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เร่งส่งเสริมการขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ รักษาตลาดเดิม และส่งเสริมการกระจายตลาดส่งออก รวมถึงการดำเนินยุทธศาสตร์การเปิดตลาดการค้าที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเจรจาจัดทำ/ ปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีเพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้า การเดินหน้าขยายตลาดส่งออก และการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์
5. การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ต.ค. 66)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, การส่งออก, พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์, สนค., สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, เศรษฐกิจโลก, เศรษฐกิจไทย