กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (6 ต.ค.) ว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนส.ค.ของญี่ปุ่นปรับตัวลง 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ประชาชนลดการใช้จ่ายด้านอาหารและการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
ทั้งนี้ การใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีสมาชิกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ลดลง 2.5% สู่ระดับเฉลี่ย 293,161 เยน (1,975 ดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนส.ค. แต่ลดลงน้อยกว่าในเดือนก.ค.ที่ปรับตัวลง 5.0%
การเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นมีขึ้นในวันเดียวกับที่กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ค่าจ้างที่แท้จริง (real wages) ปรับตัวลง 2.5% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันยาวนานถึง 17 เดือน เนื่องจากผลกระทบของราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นได้บดบังผลบวกของการปรับขึ้นเงินเดือน
การใช้จ่ายด้านอาหารซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนนั้น ลดลง 2.5% ในเดือนส.ค. โดยการใช้จ่ายในการซื้ออาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม และไข่ ปรับตัวลงอย่างมาก เนื่องจากราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ส่วนการใช้จ่ายด้านการศึกษาลดลง 13.6%
นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติยังส่งผลให้ความต้องการเสื้อผ้าในช่วงฤดูหนาวลดน้อยลง โดยตัวเลขการใช้จ่ายซื้อเสื้อผ้าลดลง 5.9% ขณะที่การใช้จ่ายด้านการแพทย์ ลดลง 11.2% เนื่องจากความต้องการหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์วัดอุณหภูมิลดน้อยลง หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับลดสถานะของโรคโควิด-19 ลงสู่ระดับเดียวกับโรคหวัดตามฤดูกาล
ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนถือเป็นมาตรวัดการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ต.ค. 66)
Tags: การใช้จ่าย, ญี่ปุ่น, ภาคครัวเรือน, เศรษฐกิจญี่ปุ่น