นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และนายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ ไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้สอบนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่แต่งตั้งพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมลเป็น ผบ.ตร. คนที่ 14 ว่ามีการดำเนินการขัดต่อกฎหมายว่า ในด้านข้อกฎหมาย การแต่งตั้ง ผบ. ตร. เป็นไปตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ มาตรา 77 และมาตรา 78 โดยสาระสำคัญของกฎหมายระบุว่า ผู้ที่จะเป็นแคนดิเดทในการได้รับการเสนอชื่อหรือการแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ตร.นั้น จะต้องเป็น รอง ผบ.ตร. หรือเป็นจเรตำรวจ ซึ่งในรอบวาระวันที่ 27 กันยายน 2566 มีผู้ที่เข้าคุณสมบัตินี้อยู่ คือ รอง ผบ.ตร. 4 คน ในส่วนจเรตำรวจ มีการเกษียณอายุราชการ ดังนั้นจึงเหลือแคนดิเดต 4 คน
ขณะที่กฎหมายในมาตรา 77 และมาตรา 78 ได้ระบุว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกนั้น ให้ยึดถือทั้งอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน ซึ่งมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ ก่อนหน้าปี 2565 นั้น ให้ยึดถืออาวุโสเป็นหลัก และได้มาแก้ให้พิจารณาเรื่องความรู้ความสามารถด้วย โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อ และที่ประชุม กตร. ลงมติโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งปรากฏว่าในวันนั้น ผู้ได้รับการเสนอชื่อ และที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 9 เสียง ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง โดยทำให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้รับเลือกเป็น ผบ.ตร.
นายชัย กล่าวว่าการพิจารณาตามลำดับอาวุโสนั้น จะมีลำดับอาวุโส 2 ระดับ คือ 1 กับ 2-4 ซึ่งอันดับ 1 คือ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ซึ่งอาวุโสที่สุดมากกว่าอีก 3 ท่าน 1 ปี ขณะที่อันดับรองลงมา ทั้ง 3 ท่าน มีอาวุโสเท่ากัน ขึ้น รอง ผบ.ตร.พร้อมกัน ในปีเดียวกัน
นอกจากนี้ ในเรื่องความรู้ความสามารถ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ นั้น นายกรัฐมนตรีได้เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นของ ก.ตร.ในแง่ของมุมมองว่าความรู้ความสามารถของแคนดิเดตแต่ละคนเป็นอย่างไร ซึ่งที่ประชุมได้ใช้เวลาพอสมควร โดยแทบทุกคนได้แสดงความคิดเห็น รวมไปถึงพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีต ผบ.ตร. ในฐานะผู้บังคับบัญชาของแคนดิเดตทั้ง 4 ได้เป็นผู้นำเสนอ และประเมินแต่ละคนด้วย
ดังนั้น ได้ฟังการประเมินความรู้ความสามารถอย่างรอบด้าน ซึ่งเมื่อประเมินแล้วเห็นว่า ความแตกต่างเรื่องอาวุโส ต่างกันเพียงแค่ปีเดียว แต่เรื่องของความรู้ความสามารถที่ได้ฟังจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจสะท้อนออกมา นายกรัฐมนตรีจึงได้ตัดสินใจเสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ซึ่งที่ประชุมจากที่ได้ฟังการอภิปรายได้ฟังข้อมูลรอบด้าน เห็นชอบกับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี 9 ต่อ 1 เสียง
“ทั้งหมดนี้ คือข้อเท็จจริงตามตัวบทกฎหมาย ถูกต้องตามหลักการทุกประการ และข้อเท็จจริงมีความชอบธรรม สมเหตุสมผล ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ลุแก่อำนาจ ท่านยึดตามหลักกฎหมาย และได้ฟังอย่างรอบด้านแล้ว ส่วนกรณีที่มีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น ก็จะชี้แจงตามข้อเท็จจริง ถ้าต้องไปชี้แจงที่ไหน ก็สามารถชี้แจงได้ ไม่ใช่เพียงนายกรัฐมนตรี ผู้ที่อยู่ในที่ประชุม ผู้ที่นั่งฟังอยู่ เขารู้ว่าอะไรเกิดขึ้น ซึ่งสามารถชี้แจงได้ทุกคน” นายชัย กล่าว
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ยืนยันว่า ไม่ได้ลุอำนาจ และทำไปด้วยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่าจะตั้งทีมทนายความขึ้นมาสู้คดีหรือไม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 66)
Tags: ชัย วัชรงค์, เศรษฐา ทวีสิน, เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส