นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมของเดือนก.ย.ที่ผ่านมาเป็น Turning Point ที่สำคัญทั่วโลก โดยมีปัจจัยกระตุ้นสำคัญจากนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งจากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยมีมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ ถือเป็นการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวนานกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงมีการปรับฐานชัดเจนในเดือนที่แล้ว เงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า ขณะที่ราคาน้ำมันโลกปรับเพิ่มขึ้นหลังจากผู้ผลิตรายใหญ่ยังคงจำกัดปริมาณการผลิต
โดยตลาดหุ้นไทยปรับลง สอดคล้องกับทิศทางตลาดในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามด้วยอานิสงส์ของเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยกลับมาเป็นบวกครั้งแรก นอกจากนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกกับเศรษฐกิจไทยในปี 66 และ 67 นำโดยการบริโภคภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการฟื้นตัวของการส่งออก แต่แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับไปยังพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
ทั้งนี้ความเปราะบางของเศรษฐกิจจีน ทำให้เห็นสัญญาณเงินทุนไหลออกจากหลายตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียในเดือนก.ย.66 ทำให้เงินสกุลต่างๆ ปรับตัวอ่อนค่า โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่ปรับลดลงมาก อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างชาติยังรอจังหวะการกลับเข้าซื้อหุ้นไทยด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ทิศทางค่าเงินบาท รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตามแนวโน้มในไตรมาส 4/66 ต้องติดตามข้อมูล ความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายหรือข่าวที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในระกับโลกอย่างใกล้ชิด หลังจากตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในมาตลอด ทั้งนี้ปัจจัยภายในประเทศเริ่มชัดเจนขึ้น ทั้งด้านนโยบายของรัฐบาลต่าง ๆ แต่ต้องติดตามต่อว่านโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาจะมีทิศทางอย่างไร และตอบสนองต่อนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างครบถ้วนหรือไม่
“ในเดือนก.ย.66 ผู้ลงทุนมีความสนใจในหุ้นลดลงหลังจากมีการปรับฐานครั้งใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยี สาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ เนื่องจากผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยมีมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ ถือเป็นการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวนานกว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้เงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า ขณะที่ราคาน้ำมันโลกปรับเพิ่มขึ้นหลังจากผู้ผลิตรายใหญ่ยังคงจำกัดปริมาณการผลิต” นายศรพล กล่าว
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ห้างพารากอน โดยมองว่าเป็นผลกระทบระยะสั้น ซึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก โดยจะต้องสื่อสารว่ามีการปรับปรุง แก้ไข และป้องกันอย่างไร ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบด้านความเชื่อมั่นในภาคการท่องเที่ยวให้ลดน้อยลง
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย
– ณ สิ้นเดือนก.ย.66 SET Index ปิดที่ 1,471.43 จุด ปรับลดลง 6.0% จากเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค และปรับลดลง 11.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า
– ในเดือนก.ย.66 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 65 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการเงิน กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มบริการ
– ในเดือนก.ย.66 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 49,462 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 34.1% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 9 เดือนแรกปี 66 อยู่ที่ 56,218 ล้านบาท ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิเป็นเดือนที่แปด โดยในเดือนก.ย.66 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 22,436 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17
– ในเดือนก.ย.66 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 3 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) บมจ. ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น (SINO) และ บมจ. ไทย โคโคนัท (COCOCO) และใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ (GFC)
– Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนก.ย.66 อยู่ที่ระดับ 16.5 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.8 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 22.5 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.7 เท่า
– อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนก.ย.66 อยู่ที่ระดับ 3.15% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.39%
ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
– ในเดือนก.ย.66 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 583,283 สัญญา เพิ่มขึ้น 10.4% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 66 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 548,766 สัญญา ลดลง 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 66)
Tags: SET, SET Index, TFEX, ตลท., ตลาดหลักทรัพย์, ภากร ปีตธวัชชัย, ศรพล ตุลยะเสถียร, หุ้นไทย, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย