ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทย ในปี 66 ลงสู่ 3% จากเดิม 3.4% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลง ขณะที่การส่งออกทั้งปีอาจติดลบ ส่วนในปีหน้าคาดว่า GDP สามารถขยายตัวได้ประมาณ 4.6% โดยภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับยังแรงบวกเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 66 มีแนวโน้มเติบโตได้ 3.0% ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ที่ 3.4% เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายด้าน ปัจจัยหลักจากมูลค่าการส่งออกทั้งปีที่มีแนวโน้มติดลบ ตามภาวะการผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลกที่หดตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ตามแรงกดดันของภาคการส่งออก
นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังมีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 4/66 จากปัญหากระบวนการการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ส่งผลให้การเบิกจ่ายอาจต่ำกว่าปกติ
อย่างไรก็ดี การปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต ทั้งยังมีปัจจัยบวกจากนโยบาย Free Visa ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะแตะระดับ 29.5 ล้านคนในปี 66 ขณะเดียวกัน การฟื้นไปสู่ภาวะปกติมากขึ้นของภาคท่องเที่ยว ยังหนุนการจ้างงานและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อไปในระยะข้างหน้า
ส่วนในปี 67 ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ประมาณ 4.6% โดยภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวสู่ภาวะปกติมากขึ้น จะช่วยหนุนการจ้างงานและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้มีแนวโน้มขยายตัวต่อไป ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะเป็นแรงบวกเพิ่มเติมที่สนับสนุนให้ GDP สามารถเติบโตต่อเนื่องในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีนที่กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ ทั้งยังมีความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ภาวะเงินตึงตัวจากอัตราดอกเบี้ยของประเทศหลักในปีหน้า ซึ่งจะอยู่ในระดับสูงต่อไป ถือเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่ลดทอนกำลังซื้อในตลาดโลก และการส่งออกของไทย ขณะที่ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน
Krungthai COMPASS แนะนำให้ผู้ประกอบการวางแผนรับมือ โดยพยายามรักษาฐานลูกค้าด้วยการรักษาจุดแข็งและความแตกต่างจากคู่แข่ง รวมทั้งการแสวงหาตลาดใหม่ หรือกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ ส่วนมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 67 อาจเป็นแรงสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ซึ่งผู้ประกอบการควรวางแผนเตรียมพร้อม เพื่อใช้โอกาสดังกล่าวในการขยายตลาดภายในประเทศ เพิ่มกลุ่มลูกค้าเป้าหมายต่อไป
ขณะเดียวกัน ภาครัฐและภาคเอกชน ควรร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมถึงการปรับใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ที่อาจกลายเป็นระบบนิเวศน์ทางการเงิน และการค้าอิเล็กทรอนิกส์อีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญต่อไปในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 66)
Tags: GDP, krungthai COMPASS, KTB, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย