นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้ธนาคารออมสินว่า ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเร่งดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึง 90% ของ GDP หรือมีมูลค่าถึง 14-15 ล้านล้านบาท ซึ่งในหลักการหนี้ครัวเรือนควรไม่เกิน 80% ของ GDP โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปี 63-64 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับหนี้ครัวเรือน ถือเป็นภาพใหญ่ของทั้งประเทศ ซึ่งธนาคารออมสินก็จะรับไปทยอยดำเนินการให้ความช่วยเหลือ โดยจะเริ่มที่กลุ่มลูกหนี้ของธนาคารรัฐก่อน จากนั้นค่อยดูผลที่เกิดขึ้นจากมาตรการให้ความช่วยเหลือ
“วิธีการเบื้องต้น คือ จะช่วยเหลือทั้งลูกหนี้ดีและลูกหนี้เสียจะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนรายละเอียดอยากให้รอติดตาม ขอไปศึกษาแนวทางเพิ่มเติม แต่ก็เชื่อว่าจะมีวิธีการที่ดี และไม่เป็นการสร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้ โดยเริ่มต้นอาจจะดำเนินการกับกลุ่มลูกค้าของธนาคารก่อน ขณะที่ลูกหนี้ที่นอกเหนือจากนี้ต้องรอพิจารณาในรายละเอียด” นายกฤษฎา กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้ธนาคารออมสินเร่งดำเนินการให้ความรู้ทางการเงิน การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่างๆ ทั้งการช่วยเหลือทางด้านการเงินอื่นๆ การให้ความรู้ในการป้องกันการโดนหลอกลวง เป็นต้น
นายกฤษฎา กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้มีการหารือกับธนาคารออมสินในเรื่องแหล่งเงินที่จะมาใช้ดำเนินมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต แต่เชื่อว่าหลังจากที่มีการตั้งคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่แล้ว น่าจะมีทางออกที่ดี และชัดเจนมากขึ้น จึงอยากให้รอผลการประชุมของคณะกรรมการชุดดังกล่าวก่อน ขณะนี้ไม่อยากพูดคนละทาง เพราะกังวลว่าอาจจะมีประเด็นกันไปใหญ่
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารเตรียมเสนอให้กระทรวงคลังพิจารณาแพคเก็จในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ NPL จากโครงการสินเชื่อรายละ 10,000 บาท ที่ดำเนินการในช่วงโควิด-19 ปี 63-64 ก่อน โดยยอมรับว่าหนี้เสียในโครงการดังกล่าว ประมาณ 8,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี วิธีการในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน คือ การเพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่ต้องใช้เวลา และการลดอัตราดอกเบี้ยลงมา โดยการเข้าไปแข่งขันในตลาดที่ดอกเบี้ยสูงเกินจริง ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้จะทำให้การจ่ายเงินงวดเท่าเดิมแต่สามารถตัดต้นได้มากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 66)
Tags: กฤษฎา จีนะวิจารณะ, ธนาคารออมสิน, หนี้ครัวเรือน