SCGD เตรียมเสนอขาย IPO ไม่เกิน 444.10 ล้านหุ้น หลังก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวถึงความคืบหน้าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจาก บมจ.เอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อพิจารณา ปัจจุบันได้รับการนับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งแล้ว

ปัจจุบัน SCGD มีทุนจดทะเบียน 16,550,000,000 บาท คิดเป็นจำนวน 1,655,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท โดยทุนที่ออกและชำระแล้วมีจำนวน 12,109,000,000 บาท คิดเป็นจำนวน 1,210,900,000 หุ้น และจะเสนอขายหุ้น IPO (รวมการเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ COTTO เพื่อแลกหุ้น และการเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป) จำนวนไม่เกิน 444,100,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 26.8 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจ ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ การปรับโครงสร้างเงินทุน รวมถึงการควบรวมกิจการในอนาคต (หากมี)

บมจ.เอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) มีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งและศักยภาพเติบโตในภูมิภาคอาเซียน จากการมีฐานการผลิตและช่องทางจำหน่ายที่ครอบคลุมในภูมิภาค มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย แบรนด์สินค้าที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ เช่น COTTO, SOSUCO, CAMPANA, PRIME, PREMIER, MARIWASA, Luxurio, KIA, Impresso เป็นต้น มีทีมออกแบบและพัฒนาสินค้าที่เชี่ยวชาญ สามารถพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA Products) เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ลูกค้า

นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGD เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์อย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน โดยมีธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจตกแต่งพื้นผิว (Decor Surfaces) คิดเป็นสัดส่วนรายได้หลักประมาณ 80% ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง ผลิตภัณฑ์กระเบื้องไวนิล SPC (Stone Plastic Composite) และกระเบื้องไวนิล LVT (Luxury Vinyl Tile) ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดที่อยู่อาศัยและอาคารเชิงพาณิชย์ เนื่องจากติดตั้งง่ายและมีลวดลายธรรมชาติเสมือนจริง รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กาวซีเมนต์ กาวยาแนว เป็นต้น และ ธุรกิจสุขภัณฑ์ ได้แก่ สุขภัณฑ์ ก๊อกน้ำ และอุปกรณ์ห้องน้ำ คิดเป็นสัดส่วนรายได้เกือบ 20% และมีอัตรากำไรที่ดี โดย SCGD มีฐานการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และฐานผลิตสุขภัณฑ์ในประเทศไทย และมีช่องทางจำหน่ายครอบคลุมในอาเซียนที่มีศักยภาพเติบโตสูงในอนาคต รวมถึงมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 57 ประเทศทั่วโลก

จากจำนวนประชากรรวม 4 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 580 ล้านคนในปี 69 ประกอบกับการขยายตัวของเมือง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การใช้กระเบื้องและสุขภัณฑ์เพื่อตกแต่งอาคารหรือพื้นที่สาธารณะ ความต้องการใช้กระเบื้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ตลอดจนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าในช่วง 5 ปี นับจากปี 65-69 ภาพรวมอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิกใน 4 ประเทศ ทั้งไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 1.2% 14.3% 4.4% และ 6.9% ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมสุขภัณฑ์ จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 2.1% 13.9% 6.9% และ 8.5% ตามลำดับ โดยจากมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์รวมกันประมาณ 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาทในปี 64 (อ้างอิงจาก Euromonitor)

บริษัทฯ เล็งเห็นศักยภาพของตลาดตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนที่มีโอกาสเติบโตสูง จึงวางกลยุทธ์รุกขยายตลาดในอาเซียนเพื่อเพิ่มยอดขาย ได้แก่

1. ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ใหม่และสินค้านวัตกรรม เช่น กลุ่ม COTTO Smart Toilet นวัตกรรมตอบโจทย์ด้านสุขภาพและอนามัย พัฒนาสินค้าแบรนด์ Quil เพื่อขยายตลาดพรีเมียมเพิ่มขึ้น เป็นต้น

2. ต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจตกแต่งพื้นผิวในประเทศไทยสู่ผู้นำในภูมิภาคอาเซียน โดยขยายตลาดกลุ่มกระเบื้องไวนิล SPC และกระเบื้องไวนิล LVT ในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รวมถึงขยายช่องทางจัดจำหน่าย COTTO LiFE ในเมืองหลักและขยายคลังเซรามิคในเมืองหลักและเมืองรองของประเทศไทย อีกทั้งขยายร้านค้าของบริษัทฯ เอง ในต่างประเทศเพิ่มเติม

3. ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการให้บริการแบบครบวงจร โดยผนึกกำลังธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจแบบ Total Solution

4. บริหารห่วงโซ่อุปทาน ทั้งด้านการผลิตและการจัดหาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยผสานความร่วมมือฐานการผลิตแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มการซอร์สซิ่งกระเบื้องจาก 12 ล้านตารางเมตรต่อปี เป็น 20 ล้านตารางเมตรต่อปีภายในปี 67 รวมถึงขยายไปยังสุขภัณฑ์และอื่นๆ

5. เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ตลอดจนกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐานระดับโลก โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์จากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 15 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในโรงงานภายในปี 73 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 93 และเพิ่มรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (SCG Green Choice) จากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 80 ของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ภายในปี 73

ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ช่วง 6 เดือนแรกของปี 66 มีรายได้จากการขาย 14,336.3 ล้านบาท ขณะที่ปี 63-65 มีรายได้จากการขาย 24,378.6 ล้านบาท 25,937.4 ล้านบาท และ 30,253.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% และ 16.6% จากปีก่อน ตามลำดับ โดยในปี 2564 มียอดขายกระเบื้องเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดในแต่ละประเทศ 33.0%, 26.4% และ 16.8% ตามลำดับ และมียอดขายสุขภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 32.8% อีกทั้งเป็นหนึ่งในผู้นำสุขภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart & Hygiene) ในประเทศไทยด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top