In Focus: หวั่นทะเลจีนใต้เดือด หลังฟิลิปปินส์ท้าชนจีน ลั่นจะไม่ยอมถูกบูลลีอีกต่อไป

ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่กว้างใหญ่ไพศาลได้ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่จีนซึ่งมีความอหังการมากขึ้นนั้นกำลังสร้างเสริมกำลังทหารในบรรดาหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาท และได้ออกมาเผชิญหน้ากับประเทศในภูมิภาคเกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และอุดมไปด้วยทรัพยากร

สถานการณ์ตึงเครียดล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ยามฝั่งของฟิลิปปินส์ได้ทำการรื้อถอนสิ่งกีดขวางที่เป็นทุ่นลอยน้ำของจีนออกจากบริเวณเส้นทางเข้าสู่แนวสันดอนสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ในทะเลจีนใต้เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยหน่วยยามฝั่งของรัฐบาลจีนเป็นผู้ติดตั้งทุ่นกั้นเหล่านั้น ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวของฟิลิปปินส์สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับจีน ขณะที่สำนักงานยามฝั่งของฟิลิปปินส์ได้ออกแถลงการณ์สำทับว่า ฟิลิปปินส์พร้อมที่จะรื้อถอนสิ่งกีดขวางใด ๆ หากมีผู้นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณแนวสันดอนสการ์โบโรห์ในทะเลจีนใต้อีก

นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนรีบออกมาตอบโต้ว่า หมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์หรือเกาะหวงเหยียนในทะเลจีนใต้เป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของจีน ดังนั้นจีนจึงขอแนะนำฟิลิปปินส์ว่า “ไม่ควรกวนน้ำให้ขุ่น” ซึ่งต่อมาประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่ได้ต้องการสร้างปัญหา แต่สิ่งที่ดำเนินการไปนั้นจำเป็นต่อการปกป้องอธิปไตยของประเทศและสิทธิของชาวประมงฟิลิปปินส์ ซึ่งเข้าไปหาปลาในบริเวณนี้อย่างอิสระมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว

เกาะหวงเหยียนเป็นชื่อที่จีนใช้เรียกแนวสันดอนสการ์โบโรห์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ และปัจจุบันเป็นพื้นที่ตึงเครียดระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ โดยรัฐบาลของหลายประเทศต่างอ้างสิทธิ์ในพื้นที่บางส่วนของทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ขณะที่จีนยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ โดยไม่สนใจคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ

ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา จีนได้ครอบครองเกาะและแนวปะการังจำนวนหนึ่งในทะเลจีนใต้ซึ่งอยู่ห่างไกลจากแนวชายฝั่งของจีน โดยได้สร้างฐานปฏิบัติการทางทหารขึ้น ซึ่งรวมถึงรันเวย์และท่าเรือ ขณะที่หลายประเทศที่อ้างสิทธิครอบครองพื้นที่ดังกล่าว เช่น ฟิลิปปินส์ ระบุว่า การกระทำดังกล่าวของจีนเป็นการละเมิดอธิปไตยและละเมิดกฎหมายทางทะเล

ด้านสหรัฐก็เห็นด้วยกับหลายประเทศเหล่านั้น และได้ส่งเรือพิฆาตของกองทัพเรือสหรัฐเข้าไปปฏิบัติการเพื่อแสดงถึงเสรีภาพในการเดินเรือใกล้กับเกาะต่าง ๆ ที่เป็นข้อพิพาทอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็ทำให้เกิดความวิตกว่า ทะเลจีนใต้อาจจะกลายเป็นพื้นที่ตึงเครียดที่จุดชนวนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนซึ่งเป็นสองมหาอำนาจของโลก

 

ทะเลจีนใต้สำคัญอย่างไร ทำไมหลายประเทศต่างอ้างสิทธิครอบครอ

น่านน้ำขนาด 1.3 ล้านตารางไมล์ (3.3 ล้านตารางกิโลเมตร) มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยการขนส่งสินค้าประมาณ 1 ใน 3 ของโลกซึ่งมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์นั้นใช้เส้นทางสัญจรในทะเลจีนใต้เพื่อขนส่งสินค้าในแต่ละปี

นอกจากนี้ ทะเลจีนใต้ยังเป็นแหล่งที่ตั้งของการทำประมงอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม มูลค่าทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ยังคงไม่ได้ถูกนำไปใช้ โดยจากข้อมูลของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) ของสหรัฐระบุว่า ทะเลจีนใต้กักเก็บก๊าซธรรมชาติไว้อย่างน้อย 190 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และมีปริมาณน้ำมันถึง 1.1 หมื่นล้านบาร์เรล

การจะเข้าควบคุมและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นอาจจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะและแนวปะการังขนาดใหญ่จำนวนมาก และสัตว์ป่านานาชนิดอาจจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและมลภาวะทางทะเล

 

จีนเมินคำตัดสินของศาลโลก อ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้

จีนอ้าง “อธิปไตยที่ไม่อาจโต้แย้งได้” เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด รวมถึงเกาะและสันดอนส่วนใหญ่ รวมถึงสถานที่หลายแห่งที่อยู่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่หลายร้อยไมล์ ขณะที่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน และไต้หวัน ต่างก็อ้างสิทธิครอบครองพื้นที่ในทะเลจีนใต้ด้วยเช่นกัน

เมื่อปี 2559 ศาลระหว่างประเทศในกรุงเฮกได้ตัดสินเข้าข้างฟิลิปปินส์ในข้อพิพาททางทะเลครั้งสำคัญ ซึ่งสรุปว่า จีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายที่จะอ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์เหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้

แต่จีนกลับเพิกเฉยต่อคำตัดสินดังกล่าว ขณะที่ฟิลิปปินส์ระบุว่า จีนยังคงส่งกองกำลังติดอาวุธทางทะเลไปยังแนวปะการังมิสชีฟ (Mischief Reef) และสันดอนสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์

พื้นที่ทางตอนใต้ของทะเลจีนใต้ได้แก่หมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Island) ซึ่งจีนเรียกว่าหมู่เกาะหนานซา (Nansha) โดยหมู่เกาะนี้ประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยและแนวปะการังราว 100 เกาะ ซึ่งในจำนวนนั้นราว 45 เกาะได้ถูกครอบครองโดยจีน ไต้หวัน มาเลเซีย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์

ส่วนพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลจีนใต้เป็นที่ตั้งของหมู่เกาะพาราเซล (Paracels) หรือที่จีนเรียกว่าหมู่เกาะซีซา (Xisha) นั้น ได้ถูกจีนเข้าควบคุมมาตั้งแต่ปี 2517 แม้ว่าเวียดนามและไต้หวันต่างก็อ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าวด้วยก็ตาม

 

จีนตีเนียนรุกคืบสั่งสมกองทัพเรือ-สร้างสาธารณูปโภคในทะเลจีนใต้

จีนได้สร้างกองเรือใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเรือรบมากกว่า 340 ลำ และส่วนใหญ่ปฏิบัติการอยู่ใกล้กับชายฝั่งของประเทศ แต่การเสริมสร้างกองเรือของจีนแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะปฏิบัติการในน่านน้ำระหว่างประเทศที่ไกลออกไปจากชายฝั่งของประเทศ โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนได้เปิดตัวเรือพิฆาตติดขีปนาวุธขนาดใหญ่ เรือจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบก และเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่สามารถปฏิบัติการในทะเลเปิดและอยู่ห่างจากแผ่นดินจีนหลายพันกิโลเมตร

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลของชาติตะวันตก รวมถึงฟิลิปปินส์และสหรัฐระบุว่า จีนควบคุมกองกำลังติดอาวุธทางทะเลที่มีเรือหลายร้อยลำที่แข็งแกร่ง และทำหน้าที่เป็นกองกำลังอย่างไม่เป็นทางการของจีน ซึ่งจีนใช้กองกำลังเหล่านี้ในการผลักดันการอ้างสิทธิ์ในดินแดนของตนทั้งในทะเลจีนใต้และพื้นที่อื่น ๆ ในขณะที่จีนยังสามารถปฏิเสธความเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการกับกองกำลังดังกล่าวด้วย

ด้านสหรัฐซึ่งไม่ใช่ประเทศที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ แต่ก็ระบุว่า น่านน้ำดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลประโยชน์ของสหรัฐในการรับประกันเสรีภาพในทะเลทั่วโลก โดยกองทัพเรือสหรัฐเข้าปฏิบัติภารกิจรักษาเสรีภาพการเดินเรือ (Freedom of Navigation Operation – FONOP) ในทะเลจีนใต้อยู่เป็นประจำ

สหรัฐระบุว่า “กำลังปกป้องสิทธิของทุกประเทศในด้านการบิน การเดินเรือ และปฏิบัติการในทุก ๆ ที่ ซึ่งได้รับอนุญาตโดยกฎหมายระหว่างประเทศ” ขณะที่จีนประณามการดำเนินการดังกล่าวของสหรัฐว่าผิดกฎหมาย

การสั่งสมกำลังทหารส่วนใหญ่ของจีนกระจุกตัวอยู่ตามแนวหมู่เกาะสแปรตลีย์และเกาะพาราเซล ซึ่งมีการถมที่ดินอย่างต่อเนื่องและทำให้แนวปะการังถูกทำลาย โดยจีนส่งเรือเข้าล้อมรอบเกาะปะการังและเกาะเล็กเกาะน้อยหลายแห่ง อีกทั้งยังส่งเรือขุดเข้าไปสร้างเกาะเทียมที่ใหญ่พอจะเป็นที่จอดเรือบรรทุกน้ำมันและเรือรบได้

“ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้เพิ่มพื้นที่มากกว่า 3,200 เอเคอร์ให้กับพื้นที่ยึดครองในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งปัจจุบันมีสนามบิน พื้นที่จอดเรือ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเติมเสบียงเพื่อรองรับการประจำการของกองทัพ และกองกำลังกึ่งทหารของจีนในภูมิภาคดังกล่าว” นางลินด์ซีย์ ฟอร์ด รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐกล่าวกับคณะอนุกรรมการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อไม่นานมานี้

การก่อสร้างฐานทัพทางทหารของจีนเร่งความเร็วขึ้นในปี 2557 ขณะที่จีนเริ่มปฏิบัติการขุดลอกครั้งใหญ่บนแนวปะการัง 7 แห่งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยโครงการริเริ่มความโปร่งใสทางทะเลแห่งเอเชียของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐระบุว่า จีนได้สร้างฐานทัพทหารบนแนวปะการังซูบี แนวปะการังจอห์นสัน แนวปะการังมิสชีฟ และแนวปะการังไฟเอรี ครอส เพื่อสนับสนุนการอ้างสิทธิในหมู่เกาะดังกล่าว

นางฟอร์ดระบุว่า ฐานทัพเหล่านั้นขณะนี้เต็มไปด้วยอาวุธที่ทันสมัยที่สุดของจีน ซึ่งรวมถึงเครื่องบินขับไล่เทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ (สเตลธ์)

“ตั้งแต่ต้นปี 2561 เราได้เห็นจีนจัดเตรียมอุปกรณ์ทางทหารบนเกาะสแปรตลีย์อย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยขีดความสามารถทางการทหารที่เพิ่มขึ้น รวมถึงขีปนาวุธร่อนต่อต้านเรือขั้นสูง ขีปนาวุธภาคพื้นสู่ระยะไกล ระบบขีปนาวุธทางอากาศ เครื่องบินขับไล่ล่องหน J-20 อุปกรณ์เลเซอร์และอุปกรณ์รบกวน ตลอดจนเรดาร์ทางทหารและความสามารถในการส่งสัญญาณข่าวกรอง” นางฟอร์ดระบุในแถลงการณ์

จีนยังได้ติดตั้งแท่นขุดเจาะเพื่อสำรวจหาน้ำมันในหมู่เกาะพาราเซลเมื่อปี 2557 ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการจลาจลต่อต้านจีนในเวียดนาม เพราะเวียดนามก็เป็นประเทศที่อ้างสิทธิในหมู่เกาะดังกล่าวเช่นกัน

นอกจากนี้ มีรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า เรือสำราญหลายลำได้พานักท่องเที่ยวชาวจีนไปเที่ยวชมแนวปะการังที่มีกองกำลังติดอาวุธของจีนประจำการอยู่

 

เหตุใดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้จึงปะทุขึ้นอีกครั้ง

ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ บองบอง นั้น ฟิลิปปินส์ได้ดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้นเพื่อปกป้องการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำและสันดอนต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าหลายครั้งระหว่างเรือของฟิลิปปินส์และเรือของจีนในน่านน้ำนอกหมู่เกาะฟิลิปปินส์

ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมาเรือรบจีนได้ใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำเพื่อสกัดกั้นเรือของฟิลิปปินส์ที่จะเข้าไปส่งเสบียงให้กับทหารซึ่งประจำการอยู่บนซากเรือรบเก่าของสหรัฐที่ฟิลิปปินส์ใช้เป็นฐานทัพทหารในทะเลจีนใต้ และเมื่อไม่นานมานี้ ชาวฟิลิปปินส์รายหนึ่งดำน้ำลงไปใช้มีดตัดทุ่นลอยน้ำที่จีนวางเป็นแนวกั้นไว้เพื่อไม่ให้เรือประมงของฟิลิปปินส์รุกล้ำเข้าไปจับปลา

“เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจีนมีความก้าวร้าวและมั่นใจมากขึ้นในการดำเนินการกับประเทศเล็ก ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ พวกเขากำลังเริ่มล้ำเส้นมากขึ้น” เจย์ บาตองบาคัล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์กล่าว

หน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ระบุว่า “เรายังคงมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ปกป้องสวัสดิภาพของชาวประมงฟิลิปปินส์ และปกป้องสิทธิของฟิลิปปินส์ในน่านน้ำอาณาเขตของตน”

ด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกมาปกป้องปฏิบัติการของเรือรบจีนในน่านน้ำทะเลจีนใต้ พร้อมทั้งระบุว่า จีนจะปกป้องอย่างแน่วแน่กับสิ่งที่จีนมองว่าเป็นอธิปไตยเหนือดินแดนของตน

 

จุดปะทะเล็ก ๆ อาจลุกลามเป็นความขัดแย้งของสองชาติมหาอำนาจ

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2565 ประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ของฟิลิปปินส์มีจุดยืนที่แข็งกร้าวเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ มากกว่านายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีคนก่อนของฟิลิปปินส์

ทะเลจีนใต้ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระดับโลกได้ โดยการเผชิญหน้าระหว่างฟิลิปปินส์และจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้สังเกตการณ์ชาติตะวันตกว่า สถานการณ์อาจจะพัฒนาไปสู่เหตุการณ์ระหว่างประเทศ หากจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจระดับโลกตัดสินใจที่จะดำเนินการอย่างแข็งกร้าวมากขึ้นเพื่อต่อต้านฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญากับสหรัฐ

สหรัฐและฟิลิปปินส์ผูกพันกันตามสนธิสัญญาปกป้องซึ่งกันและกันซึ่งลงนามเมื่อปี 2494 ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้ โดยกำหนดว่าทั้งสองฝ่ายจะช่วยปกป้องกันและกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกโจมตีโดยประเทศใด ๆ

ปธน.มาร์กอสได้เร่งกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐให้แข็งแกร่งขึ้น หลังจากความสัมพันธ์ได้เสื่อมถอยลงภายใต้ประธานาธิบดีคนก่อน โดยทั้งสองประเทศมีโน้มน้าวว่าอาจจะทำการลาดตระเวนร่วมกันในทะเลจีนใต้ในอนาคต

ขณะที่สหรัฐและฟิลิปปินส์จัดการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดในเดือนเม.ย. 2566 กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกมาประกาศเตือนว่า ความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐและฟิลิปปินส์ “จะต้องไม่แทรกแซงข้อพิพาทในทะเลจีนใต้”

อย่างไรก็ตาม สหรัฐได้ประณามการกระทำของจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ในทะเลจีนใต้ และขู่ว่าจะเข้าแทรกแซงภายใต้พันธกรณีของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน หากเรือของฟิลิปปินส์ถูกโจมตีด้วยอาวุธในทะเลจีนใต้

นายเกรกอรี โพลลิง ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มเพื่อความโปร่งใสทางทะเลแห่งเอเชียกล่าวว่า “การที่จีนและฟิลิปปินส์ปะทะกันบ่อยครั้งขึ้นเรื่อย ๆ บ่งชี้ถึงความตั้งใจของรัฐบาลปธน.มาร์กอสที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการกลั่นแกล้งและการบีบบังคับจากจีน”

“ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐ-ฟิลิปปินส์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ฟิลิปปินส์มีความมั่นใจว่า จีนจะไม่ใช้กำลังทหารอย่างเปิดเผย เพราะเกรงว่าสหรัฐจะโดดเข้ามาปกป้องฟิลิปปินส์ตามสนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน”

เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) กองทัพเรือสหรัฐและฟิลิปปินส์ได้เริ่มทำการซ้อมรบประจำปีร่วมกันแล้ว โดยมีทหารจากสองประเทศเข้าร่วมกว่า 1,000 นายภายใต้รหัสการฝึก “ซามาซามา” (SAMASAMA) ซึ่งในภาษาตากาล็อกหมายถึงความสามัคคี โดยมีการฝึกต่อต้านเรือดำน้ำ การฝึกบนพื้นผิวทะเล และการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์บริเวณนอกชายฝั่งของกรุงมะนิลาและทางใต้ของเกาะลูซอน ซึ่งนับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่เกิดขึ้นหลังจากที่เกิดความขัดแย้งในทะเลระหว่างฟิลิปปินส์และจีนเมื่อไม่นานมานี้… เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นอีกในทะเลจีนใต้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top