นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Bangkok Post Forum 2023 หัวข้อ “Thailand: The Era of Change” ว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายครั้งใหญ่ในทุกด้าน ซึ่งแม้วันนี้ก็ถือว่ายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบของโควิด-19 แต่ตนยืนยันความตั้งใจที่นำประเทศเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ และข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ผ่านแนวทาง ดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลเตรียมออกนโยบายเพื่อกระตุ้นการสร้างงาน และให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มเปราะบางอื่นๆ โดยมีเป้าหมายลดความยากจนในคนทุกช่วงวัย ภายในปี 2570 นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ซึ่งรวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเลตมูลค่า 10,000 บาท ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่ากับการเติบโตของ GDP ที่ 5% ในปีหน้า และในระยะยาว นโยบายดังกล่าวจะวางรากฐานสำหรับระบบการชำระเงินผ่านเทคโนโลยี Blockchain ทั่วประเทศ ด้วยวินัยการเงินการคลังที่เข้มงวด และกระบวนการลงทุนจากต่างประเทศที่คล่องตัว
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ใช้ high-skilled and high-tech ดังนั้น การลงทุนเหล่านี้จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และช่วยเตรียมความพร้อมประเทศไทยให้สามารถเติบโตในเศรษฐกิจโลกใหม่
“เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เข้าร่วมการประชุม UNGA78 และได้มีการผลักดันประเด็นเรื่องการลงทุน ผ่านการหารือกับผู้นำภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึง Tesla และ Estee Lauder ที่กำลังพิจารณาขยายธุรกิจในประเทศไทย Google และ Microsoft อยู่ระหว่างพิจารณาลงทุน data centers ในไทย และการหารือกับสถาบันการเงินเช่น BlackRock, Citi, Goldman Sachs และ JPMorgan ล้วนสนใจลงทุนในประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด จึงขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อให้โอกาสเหล่านี้เกิดขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งขยายตลาดส่งออก รัฐบาลจะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้ากับประชาคมระหว่างประเทศรวมถึง การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป และบูรณาการกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) รวมถึงยกระดับกรอบความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว ทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) โดยรัฐบาลวางแผนดำเนินนโยบายเชิงรุก และโดดเด่นในเวทีโลกมากขึ้น
นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ด้วยการปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ที่มีผลกระทบในวงกว้างอย่างเร่งด่วน (Quick Wins) ควบคู่ไปกับการวางแผนพัฒนาในระยะยาว เห็นได้จากการที่แม้จะได้ดำรงตำแหน่งไม่นาน แต่รัฐบาลก็สามารถออกนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้วมากมาย ทั้งการลดภาระประชาชนด้านพลังงาน ออกมาตรการพักชำระหนี้และดอกเบี้ยเกษตรกร ยกเว้นการขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ซึ่งช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในช่วงวันหยุด โดยปริมาณการจองห้องพักได้เพิ่มขึ้นกว่า 6,220% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ด้านนโยบายทางการเงินการคลัง รัฐบาลตระหนักดีว่าทุกนโยบายต้องคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังที่สมดุล เพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน อันดับความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของประเทศ ซึ่งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่มีชื่อเสียงล้วนจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับเชิงบวก
นายเศรษฐา กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 66 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ได้จัดให้ไทยมีอันดับเครดิตที่มีเสถียรภาพ (stable outlook) สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค จากการมีสถานะทางการเงินและภาคต่างประเทศที่มีความแข็งแกร่ง โครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์และความเสี่ยงได้ดี
นอกจากนี้ ไทยยังมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งสัดส่วนทุนสำรองฯ ต่อมูลค่าสินค้านำเข้าอยู่ที่ 10 เท่า สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล จึงเป็นหลักประกันว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบ และประสานการทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อรักษาสมดุลของงบประมาณรายจ่ายและรายรับทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ด้านการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน การประชุม UNGA ที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำโลก เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ เดินหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ทั้งการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) การดำเนินนโยบายการเงินสีเขียว (Green Finance Mechanism) และออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ภายในปีหน้า
รัฐบาล ได้จัดตั้งหน่วยราชการใหม่ คือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment) เพื่อรับผิดชอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สามารถรับมือและดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับความท้าทายที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด (Clean Air Act) ซึ่งได้ยื่นต่อสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่ออากาศที่สะอาดซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแก่คนไทย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อภาคการเกษตรและภาคการผลิตต่างๆ โดยรัฐบาลได้บูรณาการทั้งการชลประทานแบบผิวดิน (Surface Irrigation) การชลประทานแบบใต้ผิวดิน (Subsurface Irrigation) และระบบธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank) ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมได้
นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชน โดยนับตั้งแต่ปี 2545 ไทยถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งตนยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์การจัดการนี้ไปทั่วโลก ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนที่จะลงทุนและยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีคุณภาพมากขึ้น ตั้งเป้าหมายให้มีครัวเรือนที่ตกอยู่ใต้เส้นความยากจนหลังจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health impoverishment) ไม่เกิน 0.25% ภายในปี 2570
“อนาคตของประเทศไทยสดใส ประเทศไทยเพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากร และทักษะที่เหมาะสมกับการเติบโตในโลกใหม่ รัฐบาลจะทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้ไทยประสบความสำเร็จ โดยร่วมกับภาคเอกชนและทุกคน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตนี้ ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะลงทุนในประเทศไทย” นายเศรษฐา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ต.ค. 66)
Tags: Bangkok Post Forum 2023, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย, เศรษฐา ทวีสิน