นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงผลกระทบจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์เงินเฟ้อจากนโยบายดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงที่รัฐบาลเป็นห่วง และเชื่อมั่นว่าเอาอยู่
“เราต้องการ ให้กลไกนี้สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่หมุนอยู่แค่ภายในตัวเมืองใหญ่ แต่ให้หมุนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะต้องการให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้จีดีพีโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี ภายในรัฐบาลนี้”
พร้อมยืนยันว่า เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเบื้องต้นแล้ว และยืนยันว่าไม่ได้ติดข้อกฎหมายใดๆ มีกลไกที่สามารถทำได้โดยไม่ขัดกับตัวบทกฎหมาย และยืนยันว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในนโยบายดิจิตัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังคงเป็น blockchain อย่างแน่นอน เพราะเป็นกลไกที่มีความปลอดภัยตรวจสอบได้ และในขณะนี้ไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะมีความโปร่งใสเท่านี้อีกแล้ว
ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่า นายกรัฐมนตรี จะขยับเพดานหนี้ มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 นั้น นายจุลพันธ์ ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน และย้ำว่ารัฐบาลยึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลัง แต่รัฐบาลมีกลไกที่สามารถเลือกได้ว่าจะดำเนินการแบบใด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ในเบื้องต้นมีแนวโน้มที่จะขยายกรอบพื้นที่การใช้เงินดิจิทัล วอลเล็ต ที่ก่อนหน้ากำหนดเงื่อนไขไว้ในระยะ 4 กิโลเมตรเท่านั้น หลังจากได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน แต่สุดท้ายต้องรอคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเป็นผู้ตัดสินใจ และรัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องการหาแหล่งเงินทุนมาใช้สำหรับโครงการดิจิตัลวอลเล็ต ทุกอย่างสามารถดำเนินการได้
“เรามั่นใจว่า กลไกที่มีจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น เป้าเราอยู่ที่ 5% เฉลี่ย เราไม่เห็นการเติบโตระดับ 5% มานานมาก ถ้าเห็นเติบโตระดับนี้ ผมเชื่อทุกคนจะรู้สึกว่า ตัวเองมีความมั่งคั่งมากขึ้นกว่าเก่า รู้สึกรวยขึ้น เราเชื่อมั่นว่าจะรู้สึกดีขึ้นกับชีวิต” นายจุลพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กลไกของรัฐยังไม่ได้เริ่มต้นในส่วนของแอปพลิเคชั่นหรือเทคโนโลยีที่ใช้กับโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ตดังนั้นขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ หากมีมิจฉาชีพหลอกให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นใดก็ตาม
นายจุลพันธ์ กล่าวถึงกรณีที่หลายคนเป็นห่วงว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลมอบให้กับประชาชน สุดท้ายแล้วจะไปอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่ว่า ไม่ว่าประชาชนจะนำเงินไปใช้กับผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายใหญ่ก็ไม่มีความแตกต่าง เพราะรัฐบาลไม่มีการกันใครออกจากระบบ ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายใหญ่ แต่ต้องพิจารณาว่าอยู่ในระบบหักภาษีหรือไม่ ทุกคนก็สามารถขึ้นเงินได้ แต่หากไม่ได้อยู่ในระบบฐานภาษีก็จะเป็นในลักษณะได้รับเงินมาและนำไปใช้ต่อ ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปตามธรรมชาติตามความต้องการการใช้จริง
ส่วนเรื่องการขึ้นเงินนั้นหากมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัล วอลเล็ตแล้ว นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หากผู้รับเป็นผู้ที่อยู่ในระบบภาษีอยู่แล้วสามารถขึ้นเงินได้เลย แต่หากไม่ได้อยู่ในระบบภาษี ก็จะเป็นในลักษณะนำไปใช้ต่อ จะไม่สามารถขึ้นเงินได้
ทั้งนี้ จะมีกลไกเพื่อสร้างแรงจูงใจในการใช้จ่ายเงินให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งรัฐบาลกำหนดไว้เพียง 2 อย่างคือ เรื่องกรอบเวลาในการใช้เงินในระยะ 6 เดือน และพื้นที่ในการใช้เงินดิจิทัล 4 กิโลเมตร แต่เชื่อว่าจะมีเงื่อนไขอื่นมาเพิ่มเติมอีกแน่นอน ซึ่งคาดว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นภายในปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้สามารถเริ่มต้นนโยบายภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ แต่ตอนนี้กรอบเวลาค่อนข้างตึง อาจเป็นไปได้ที่จะขยับออกไปอีก 1 เดือน เพราะไม่อยากให้มีการเริ่มโครงการทั้งที่มีเป็นประเด็นปัญหาค้างคา แต่คงจะต้องรอใกล้ถึงเวลาดังกล่าว จึงจะแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีว่าจำเป็นต้องขยับกรอบเวลาหรือไม่
ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ ย้ำว่า ในอนาคตประชาชนจะมีกระเป๋าเงินสด 1 กระเป๋า และมีเงินดิจิทัล วอลเล็ต อีก 1 กระเป๋า เพื่อเป็นกลไกแลกเปลี่ยนค้าขายในอนาคตให้กับประชาชน ซึ่งรัฐบาลมองไกลถึงขนาดว่าอนาคตจะกลายเป็น ซุปเปอร์แอปฯ ที่รวมทุกบริการไว้ในจุดเดียว และเป็นกระเป๋าหลักให้กับคนไทยในการใช้จ่ายระหว่างประเทศได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ต.ค. 66)
Tags: Digital Wallet, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ดิจิทัลวอลเล็ต, เศรษฐกิจไทย