สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียเปิดเผยผลการศึกษาที่ระบุว่า มูลค่าตลาดของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีและซัพพลายเออร์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พุ่งทะยานขึ้นนับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มต้นการแพร่ระบาด ขณะที่มูลค่าตลาดของกลุ่มบริษัทดั้งเดิมในภูมิภาคดังกล่าวปรับตัวลดลง
ข้อมูลจาก QUICK-FactSet ระบุว่า บริษัทนอกภาคการเงินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 3,700 แห่ง มีมูลค่าตลาดรวมกันที่ 1.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนก.ค. 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 12% จาก ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก และปรับขึ้น 27% จากช่วงสิ้นปี 2556
ธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ใน 6 ประเทศของอาเซียนได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม
เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดลต้า อิเลคโทรนิคส์จากไต้หวัน มีมูลค่าตลาดเติบโตขึ้นอย่างสูงสู่ 4.11 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันบริษัทดังกล่าวติดอันดับ 2 ในกลุ่มบริษัทของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอันดับ 134 ในปี 2562 ซึ่งหุ้นดังกล่าวปรับตัวขึ้นมากกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ดั้งเดิม เช่น บริษัทในเครือบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของไทย
เพื่อตอบสนองต่อความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน บริษัทเดลต้าจึงย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีนมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนอกเหนือจากประโยชน์ของการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางการเมืองแล้ว นักลงทุนยังคาดการณ์ว่า เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จะสามารถจับอุปสงค์จากอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเอาไว้ได้
แม้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยออกมาเตือนให้นักลงทุนระมัดระวังเรื่องการซื้อขายหุ้นเดลต้าเพื่อเก็งกำไร แต่นายศุภชัย วัฒนวิเทศกุล นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า บริษัทเดลต้ายังมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“เดลต้าได้เข้าลงทุนในอินเดียในระยะยาวแล้ว ดังนั้นจึงสามารถคว้าประโยชน์มากมายจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน” นายศุภชัยระบุ
ส่วนบริษัทซี กรุ๊ป (Sea Group) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเกมและอีคอมเมิร์ซจากสิงคโปร์ ติดอยู่ในอันดับ 3 ของการจัดอันดับโดยนิกเกอิ ซึ่งขยับขึ้นจากอันดับ 20 ในปี 2562 หลังอุปสงค์พุ่งขึ้นในช่วงที่ผู้คนเก็บตัวอยู่ในบ้านเนื่องจากโรคโควิด-19 ระบาด โดยช้อปปี้ (Shopee) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหลักของซี กรุ๊ป เติบโตจนกลายเป็นผู้ให้บริการค้าปลีกทางอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ยอดขายของซี กรุ๊ปเติบโตแบบชะลอตัวลง หลังจากที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง และบริษัทได้ตัดสินใจปลดพนักงานครั้งใหญ่เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรเมื่อปีที่ผ่านมา แต่มูลค่าตลาดของซี กรุ๊ปยังคงเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวสู่ 3.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากช่วงสิ้นปี 2562
ในทิศทางตรงกันข้าม มูลค่าตลาดของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่และบริษัทของรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับไม่สดใสนัก โดยบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) มีมูลค่านำทุกบริษัทในช่วงสิ้นปี 2562 แต่ปัจจุบันร่วงลงสู่อันดับ 6 โดยมูลค่าตลาดของปตท.ลดลงกว่า 30% สู่ 2.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือซีพี กรุ๊ป ร่วงลงจากอันดับ 8 ในปี 2562 สู่อันดับ 15 ในปัจจุบัน หลังมูลค่าตลาดลดลง 23% สู่ 1.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ต้องพึ่งพาตลาดไทยเป็นหลัก และนักลงทุนไม่พอใจกับความล่าช้าของบริษัทในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ต.ค. 66)
Tags: ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, สิงคโปร์, เทคโนโลยี, โควิด-19, ไทย