ดร.กอตอลิน กอริโกและดร.ดรูว์ ไวส์แมน 2 นักวิทยาศาสตร์คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี 2566 จากงานวิจัยที่เปิดทางให้เกิดการพัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อป้องกันโรคโควิด-19
ผลงานของ 2 นักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวช่วยบุกเบิกเทคโนโลยีที่ช่วยให้บริษัทโมเดอร์นา และบริษัทไฟเซอร์ สามารถพัฒนาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว และวัคซีนดังกล่าวได้ถูกแจกจ่ายให้แก่ผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการบรรเทาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ mRNA (messenger Ribonucleic Acid) เป็นสารพันธุกรรมชนิดหนึ่งในสิ่งมีชีวิตซึ่งรวมถึงไวรัสด้วย แนวคิดของการพัฒนาวัคซีนด้วย mRNA คือ เมื่อนำส่งสารพันธุกรรมชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งเป็นโปรตีนส่วนที่จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไวรัส COVID-19
สมัชชาโนเบลแห่งสถาบันแคโรลินสการะบุในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (2 ต.ค.) ว่า ดร.กอริโกและดร.ไวส์แมน จะได้รับเงินรางวัลร่วมกัน 11 ล้านโครนา (1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 37 ล้านบาท)
นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 คนได้แสดงวิธีแก้ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของ mRNA โดยการดัดแปลงเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดอาการอักเสบ โดยงานวิจัยของพวกเขาซึ่งตีพิมพ์ในปี 2548 เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ทราบว่า mRNA สามารถนำเข้าสู่ร่างกายได้
สมัชชาโนเบลกล่าวว่า “การค้นพบที่ก้าวล้ำของทั้งคู่ ได้เปลี่ยนความเข้าใจขั้นพื้นฐานเรื่องปฏิกิริยาของ mRNA ต่อระบบภูมิคุ้มกันของเรา ผู้รับรางวัลทั้งสองมีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาวัคซีนในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในช่วงที่โลกเผชิญกับหนึ่งในภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์ในยุคสมัยใหม่”
ดร.กอริโกซึ่งเป็นชาวฮังการี และดร.ไวส์แมน ชาวอเมริกัน ทำงานหนักโดยไม่เปิดเผยตัวตนมาหลายปี ด้วยแนวทางที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ มองว่าเป็นงานที่ท้าทายเกินไป
ทั้งนี้ ดร.กอริโก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยเซเกดในฮังการี ส่วนดร.ไวส์แมนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาภูมิคุ้มกันวิทยาและจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยบอสตันในสหรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ต.ค. 66)
Tags: COVID-19, การแพทย์, รางวัลโนเบล, วัคซีน mRNA, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19